เอฟทีเอ ดัน เครื่องเทศ-สมุนไพรไทย ส่งออก พุ่ง 93%

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย การส่งออกเครื่องเทศและสมุนไพรไตรมาสเดือนแรกปี 64  มูลค่า 87 ล้านเหรียญสหรัฐ โต 93% ตลาดอาเซียนมาเป็นอันดับหนึ่ง เพิ่ม 154% เหตุได้แรงหนุนจากการลดภาษีภายใต้เอฟทีเอ 

วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าเครื่องเทศและสมุนไพรเป็นหนึ่งในสินค้าที่การส่งออกขยายตัวได้ดี โดยไตรมาสแรกของปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่าส่งออก 87.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 93% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุน จากการที่ประเทศคู่เอฟทีเอ 13 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนาม ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว (ไม่รวมพืชกลุ่มสารเสพติด) 

สำหรับอีก 5 ประเทศที่เหลือยังเก็บภาษีบางรายการ คือ สปป.ลาว พริกแห้งเก็บที่อัตรา 5% จีน พริกไทย เก็บที่อัตรา 5% ญี่ปุ่น สารสกัดจากสาหร่ายทะเล เก็บที่อัตรา 30% เกาหลีใต้ โสมและสารสกัดจากโสม เก็บที่อัตรา 178.2- 603.4% และ อินเดีย พริกไทย เก็บที่อัตรา 50% พริกป่นพริกแห้ง เก็บที่อัตรา 70% ขิง ขมิ้น วานิลา จันทน์เทศ เก็บที่อัตรา 30%

นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งลงนามไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ไทยสามารถผลักดันให้จีนลดภาษีนำเข้าพริกไทยไม่บดไม่ป่นจนเหลือศูนย์ในปีที่ 20 หลังความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับ

เมื่อดูสถิติการส่งออกเครื่องเทศและสมุนไพรไปตลาดที่ไทยมีเอฟทีเอด้วยในไตรมาสแรกปีนี้ พบว่าขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นมากทั้งในภาพรวม รายตลาด และรายสินค้า มูลค่า 63.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 108% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็น 73% ของการส่งออกทั้งหมด โดยเฉพาะอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของไทย มูลค่า 49.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 154% (ตลาดหลัก เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสปป.ลาว) 

นอกจากนี้ ตลาดคู่เอฟทีเออื่นๆ ก็ขยายตัวเช่นกัน อาทิ ญี่ปุ่น ขยายตัว 27% จีน ขยายตัว 41% อินเดีย ขยายตัว 2% ฮ่องกง ขยายตัว 80% นิวซีแลนด์ ขยายตัว 11% และออสเตรเลีย ขยายตัว 27% เป็นต้น 

สินค้าส่งออกสำคัญยังขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ หมาก 43 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 186% เครื่องเทศกลุ่มขิงและขมิ้น 12 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 35% สารสกัดจากสมุนไพร 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11% เครื่องเทศกลุ่มพริกแห้งพริกป่น 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 65% และสมุนไพร 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19%

“ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพและรับประทานอาหารที่มีสรรพคุณส่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะเป็นกระแสต่อเนื่องในระยะยาว ถือเป็นโอกาสดีสำหรับสินค้าเครื่องเทศและสมุนไพรไทยในการขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น จึงขอแนะนำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการศึกษาข้อกำหนดต่างๆ รวมถึงให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า

เนื่องจากการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรอาจมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด มีเงื่อนไขมาตรการควบคุมการที่หลากหลายแตกต่างกันทั้งภายในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถสร้างข้อได้เปรียบด้านราคาจากสิทธิพิเศษทางภาษีจากเอฟทีเอในการส่งออกไปยังตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย”