จาก “อเมซอน” สู่ “ฮารุมิกิ เฮ้าส์” คาเฟ่น้องใหม่ ปตท.

ฮารุมิกิ เฮ้าส์

แม้จะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 แต่ธุรกิจก๊าซบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่หยุดพัฒนามองโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยแนวคิดการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งศึกษาวิจัย ต่อยอดองค์กรในจุดเเข็งด้านวิศวกรรม มาปรับใช้กับด้านเกษตรกรรม และล่าสุด ผุดไอเดียธุรกิจ “คาเฟ่ Harumiki House” คาดว่าจะเป็นหนึ่งในรายได้ใหม่ของ ปตท. คล้ายกับการต่อยอดธุรกิจคาเฟ่ อเมซอนของโออาร์ก่อนหน้านี้

ต่อยอดก๊าซธรรมชาติสู่เกษตร

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมเปิดร้านฮารุมิกิ เฮ้าส์ (Harumiki House) ในไตรมาส 2 ปีนี้ 2564 ที่ ปตท.สำนักงานใหญ่วิภาวดีเป็นแห่งแรก และมีแผนจะเปิดสาขา 2 ที่ปั๊มพีทีที สเตชั่น สาขามาบข่า จ.ระยอง เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลไม้เมืองหนาว จากการพัฒนางานวิจัยนำมาต่อยอดจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่ จ.ระยอง

วุฒิกร สติฐิต
วุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

“จุดเริ่มต้นเกิดจากการใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมนำความเย็นระดับ 17-25 องศาเซลเซียสที่เหลือจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ มาปรับใช้เพาะปลูกพืชเมืองหนาว คือ สตรอว์เบอรี่พันธุ์ Akihime จากเมืองชิซึโอกะ (Shizuoka) ประเทศญี่ปุ่น ที่โรงเรือนอัจฉริยะขนาด 1,500 ตารางเมตร ในสวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จ.ระยอง ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี และได้พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตน้ำสตรอว์เบอรี่ สตรอว์เบอรี่สด แฮนด์ครีม เริ่มจำหน่ายทางระบบออนไลน์ผ่าน Application Harumiki ก่อนหน้านี้”

แตกไลน์ธุรกิจก๊าซสู่คาเฟ่

ไอเดีย Harumiki House จะเป็นแบรนด์ที่ต่อยอดมาจากแบรนด์ Harumiki วางเป็นร้านค้าปลีกและคาเฟ่รูปแบบใหม่ จำหน่ายเครื่องดื่มและขนมเบเกอรี่ ผลไม้สด ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เน้นคุณภาพระดับพรีเมี่ยม สร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่น อีกทั้งยังเป็นจุดนัดพบประชุมย่อย หรือเจรจาธุรกิจด้วย

แปลงโฉมปั๊มเอ็นจีวีสู่อีวี

ในส่วนของธุรกิจก๊าซ ปีนี้ ปตท.ยังมุ่งเน้นกลุ่มพลังงานหมุนเวียน จึงมีแผนปรับปรุงสถานีให้บริการก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (ปั๊มเอ็นจีวี) ที่มีอยู่ 300-400 สถานี เป็นสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยจะนำร่องสาขาแรกที่ ถ.กำแพงเพชร ด้วยการเพิ่มจุดปั๊มชาร์จเพื่อรองรับแท็กซี่อีวีและรถยนต์อีวีในอนาคต

ทั้งหมดอยู่ระหว่างศึกษาผู้ลงทุน ขณะเดียวกันภายในปั๊มเราจะเพิ่มธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น การเปิดร้านไอติมกะทิสดสเตชั่น และร้านอาหาร นำร่องใน 10 สาขาก่อนในไตรมาส 3

Q3 นำเข้า LNG

“ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติไตรมาสแรกปีนี้เติบโต 7-8% ส่วนทั้งปีคาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2562 ที่มีปริมาณ 4,700-4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีการใช้ที่ 4,300-4,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันจากดีมานด์อุตสาหกรรม และภาคไฟฟ้า แต่ยังต้องติดตามผลกระทบจากโควิด-19”

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ปตท.มี 4 สัญญานำเข้า LNG ระยะยาวรวม 5.2 ล้านตันต่อปี โดยปีนี้คาดว่าประเทศไทยจะต้องการใช้ LNG อยู่ที่ 6.5 ล้านตัน จึงคาดว่าจะต้องนำเข้าเพิ่มตั้งแต่ 0.5-0.8 ล้านตัน หรือกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับ shipper รายใหม่ซึ่งทั้งหมดยังต้องผ่านการพิจารณาจากกรมเชื้อเพลิงฯและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

สำหรับการนำเข้า LNG ของผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG shipper) จะสามารถหารายใหม่ได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ ส่วนในไตรมาส 4 อาจดำเนินการได้ยาก เนื่องจากเป็นช่วงที่ตลาดมีความต้องการใช้ก๊าซสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อราคา spot LNG อาจปรับสูงขึ้น จากปัจจุบันราคาส่งมอบเดือน มิ.ย.นี้ ก็ปรับเพิ่มขึ้น 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู