เจาะอุโมงค์ส่งน้ำบางไทร-สำแล 12,000 ล้าน แก้ปัญหาประปาเค็ม กทม.

กราฟิก-อุโมงค์ส่งน้ำดิบ

น้ำประปาเค็มในช่วงฤดูแล้งได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปี และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นจากจำนวนวันที่พบภาวะน้ำเค็มเพิ่มมากขึ้น มีข้อน่าสังเกตว่า ภาวะน้ำประปาเค็มมักจะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก จากโรงผลิตน้ำประปา 3 แห่ง ได้แก่ โรงผลิตน้ำสามเสน, โรงผลิตน้ำบางเขน และโรงผลิตน้ำธนบุรี ของการประปานครหลวง (กปน.) โดยทั้ง 3 โรงต่างก็รับ “น้ำดิบ” จากคลองประปา ณ จุดรับน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.สำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งจุดรับน้ำดังกล่าวห่างจากอ่าวไทยเป็นระยะทางถึง 90 กิโลเมตร

สำแลไม่พ้นน้ำเค็ม

การประปานครหลวงกำหนดค่ามาตรฐานน้ำประปาดื่มได้ จะต้องมีปริมาณคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่กรมชลประทานได้กำหนดเกณฑ์เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ (ค่าความเค็ม) ในแม่น้ำเจ้าพระยา 0.25 กรัม/ลิตร และเกณฑ์มาตรฐานในการผลิตน้ำประปาอยู่ที่ 0.5 กรัม/ลิตร แต่ในทุก ๆ ช่วงฤดูแล้งของทุกปี คุณภาพน้ำที่จุดรับน้ำดิบสำแล จะพุ่งขึ้นสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานถึง 6-12 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้ค่าความเข้มข้นของคลอไรด์ “สูงกว่า” ค่ามาตรฐานน้ำประปาดื่มได้ หรือเกิดน้ำประปาเค็มวันละ 6-12 ชั่วโมง ตามไปด้วย

จากการเฝ้าระวังของกรมชลประทานพบว่า ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว น้ำเค็มจากอ่าวไทยจะหนุนขึ้นสูงในช่วงน้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำเค็มไหลย้อนกลับเข้ามาตามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงบริเวณจุดรับน้ำดิบที่สำแล ในขณะเดียวกัน น้ำเหนือจากการระบายของ 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) ผ่านทางเขื่อนเจ้าพระยา ก็มีปริมาณน้ำน้อยลงจนไม่สามารถผลักดันน้ำเค็มให้พ้นไปจากจุดรับน้ำดิบได้

โดยภาวะน้ำทะเลหนุนดังกล่าวจะหนุนขึ้นสูงจนถึงสำแล มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับน้ำใน 4 เขื่อนหลักจะมีปริมาณการระบายน้ำมากน้อยเพียงใด ในช่วงฤดูแล้งของปีนั้น ๆ ด้วย

ปฏิบัติการกระแทกลิ่มความเค็ม

นับตั้งแต่ปี 2562 กรมชลประทานได้หาวิธีการใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการกับภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงฤดูแล้ง เพื่อไม่ให้กระทบกับจุดรับน้ำดิบของการประปานครหลวง ที่บริเวณสำแล จ.ปทุมธานี จากข้อเท็จจริงที่ว่า จะอาศัยการระบายน้ำจากเขื่อนเพื่อผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้งไม่ได้ เนื่องจากน้ำต้นทุนในแต่ละเขื่อนมีน้อยเต็มที และจำเป็นต้องสงวนไว้เพื่อการอุปโภค-บริโภคเป็นอันดับแรก

โดยวิธีการที่กรมชลประทานนำมาใช้เรียกว่า ปฏิบัติการกระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ Water Hammer Operation

ด้วยการระบายน้ำจากเขื่อนตอนบน การเพิ่มการระบายน้ำจากลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ร่วมกับการบริหารจัดการเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และการบริหารประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ให้ “สัมพันธ์” กับช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน ปล่อยน้ำมากระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา

กรมชลประทานและการประปานครหลวงทำงานประสานกันเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำจืดมาใช้ผลักดันน้ำเค็มและเจือจางค่าความเค็มบริเวณจุดสูบน้ำสำแลให้ลดลง ด้วยการกำหนดให้โรงสูบน้ำประปาสำแลหยุดสูบน้ำเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในช่วงเวลาน้ำลง เพื่อที่จะได้มีปริมาณน้ำจืดที่มากพอลงไปผลักดันลิ่มความเค็มให้เคลื่อนตัวห่างลงไปจากสถานีสูบน้ำสำแล

ผลการปฏิบัติการ Water Hammer Operation ที่ผ่านมา 2 ปี นับว่าประสบความสำเร็จ สามารถลดวันที่น้ำประปาเค็มลงได้ แต่ปฏิบัติการนี้มีความยุ่งยากในการบริหารจัดการทั้งเวลา-น้ำ-การผลิตน้ำประปาที่จะต้องสัมพันธ์กัน และที่สำคัญ จะต้องอาศัยน้ำจืดจากลุ่มน้ำอื่น ๆ (ลุ่มน้ำแม่กลอง-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ผันผ่านคลองระบายน้ำมาช่วยด้วย

ถกเขื่อนปิดปากแม่น้ำสายหลัก

ปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มจึงถูกนำมาหารือในการประชุม คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จากความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดภัยแล้งกับน้ำเค็มหนุนขึ้นสูงจนถึงแหล่งสูบน้ำดิบ โดยมีการระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 21 หน่วยงาน และกลุ่มที่ปรึกษามาร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย

1) การจัดการอุปทานด้านน้ำเพิ่มเติมเพื่อใช้ผลักดันน้ำเค็มและแก้ปัญหาภัยแล้ง

2) ลดการใช้อุปสงค์ด้านน้ำแก้ปัญหาการสูบน้ำระหว่างทางในแม่น้ำ

3) การย้ายจุดสูบน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาให้สูงขึ้น

และ 4) การก่อสร้างเขื่อนเพื่อปิดปากแม่น้ำสำคัญ ได้แก่ เขื่อนตะวันออกและตะวันตกอ่าวไทยครอบคลุมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง บางปะกง, เขื่อนตะวันออกและฝั่งตะวันตกอ่าวไทยครอบคลุมลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำบางปะกง และเขื่อนตะวันออกและฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯครอบคลุมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากลุ่มที่บรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจะมีความเห็นในการแก้ปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มด้วยการย้ายจุดสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาขึ้นไปอยู่ในจุดเหนือน้ำที่สูงขึ้นผ่านทาง โครงการอุโมงค์ส่งน้ำบางไทร-สำแล จะมีความเป็นไปได้มากที่สุด

ต่อยอดคลองบางบาล-บางไทร

นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า โครงการอุโมงค์ส่งน้ำดิบบางไทร-สำแล จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำเค็มรุกตัวสูงมาถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแลของการประปานครหลวงในช่วงฤดูแล้งได้ โดยจะต้องย้ายตำแหน่งการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาให้เหนือบริเวณสำแลขึ้นไป เพราะตรงจุดนี้น้ำเค็มได้หนุนขึ้นมาถึงในช่วงฤดูแล้งที่มีการระบายน้ำจากเขื่อนน้อยอยู่แล้ว

“จากการพิจารณาโครงสร้างในลำน้ำเจ้าพระยา ขอให้ใช้ประโยชน์จากการต่อยอดโครงการระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ โดยให้ย้ายสถานีสูบน้ำดิบของการประปานครหลวง ไปอยู่ที่บริเวณเหนือน้ำของประตูระบายน้ำปลายคลองบางบาล-บางไทร เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากประตูระบายน้ำได้เต็มที่

นอกจากนี้ รัฐบาลควรลงทุนสร้างสถานีสูบน้ำใหม่ด้วยการส่งน้ำดิบจากเหนือน้ำบริเวณประตูระบายน้ำปลายคลองเข้าสู่อุโมงค์ส่งน้ำดิบ ความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร เข้าสู่ระบบน้ำดิบคลองประปาฝั่งตะวันออกของการประปานครหลวงต่อไป ก็จะแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกเข้ามาในช่วงฤดูแล้งได้อย่างเป็นการถาวร” นายชวลิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีการประมาณการค่าก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำดิบบางไทร-สำแล จะอยู่ที่วงเงิน 12,000 ล้านบาท และมีความเป็นไปได้ของโครงการ “มากกว่า” โครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อปิดปากแม่น้ำสำคัญ ที่จะต้องใช้เงินในการก่อสร้างหลายแสนล้านบาท

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงแผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกขึ้นมาถึงจุดสูบน้ำดิบอย่างยั่งยืน จะมีทั้งการเพิ่มน้ำต้นทุนให้เต็มศักยภาพ ซึ่งเป็นแผนของการประปานครหลวง อยู่ระหว่างดำเนินแผนการปรับปรุงกิจการประปาตามแผนหลัก เพื่อขยายกำลังการผลิตน้ำประปา อาทิ โรงงานผลิตน้ำสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบส่งน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพในระบบสูบจ่ายน้ำส่งพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมไปถึงโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ


“โครงการอุโมงค์ส่งน้ำดิบบางไทร-สำแลอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของการประปานครหลวงกับกรมชลประทาน โครงการนี้ต้องมีการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนเรื่องการเวนคืนที่ดินด้วย” ดร.สมเกียรติกล่าว