“วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” ไขปม “ถุงมือยางไทย” โตไม่ทันมาเลย์

วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล
วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย
สัมภาษณ์

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้อุตสาหกรรมถุงมือยางของไทยคึกคักและมีแนวโน้มที่เติบโตต่อเนื่อง จากคาดการณ์ Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) ชี้ว่าความต้องการใช้ถุงมือยางโลกในปี 2564 มีจำนวน 420,000 ล้านชิ้น ขยายตัว 17% จากปีก่อนหน้า อาจนำไปสู่ปัญหาการแย่งชิงถุงมือยางที่ไม่เพียงพอและมีราคาแพง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ฉายภาพรวมอุตสาหกรรมว่า การผลิตถุงมือยางจะใช้ในประเทศไทย 10% และส่งออกประมาณ 90%

ซึ่งในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2564 จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ มีการส่งออก 6,494 ล้านคู่ หรือประมาณ 13,000 ล้านชิ้น โต 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนภาพรวมปี 2563 ไทยส่งออก 24,900 ล้านคู่ หรือประมาณ 50,000 ล้านชิ้น หรือเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 400-500 ล้านชิ้น

โดยปีนี้คาดว่าดีมานด์ตลาดโลกจะเติบโต 15-20% ซึ่งผู้ประกอบการไทยคงผลิตเต็มคาพาซิตี้เหมือนเดิม ตอนนี้ไทยรับออร์เดอร์ล่วงหน้าถุงมือยางธรรมชาติไปจนถึงกลางปีหน้า ส่วนถุงมือยางสังเคราะห์ (ไนไตรล์)กลางปี 2023 ถือว่าเป็นปีที่ผู้ผลิตยังเร่งกำลังการผลิตและขายให้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง

ไทยผลิตเกินดีมานด์ 10 เท่า

จากที่คุยกับทีมขายและสมาชิกในสมาคม ซึ่งเป็นโรงงานผู้ผลิต “รับประกันว่าถุงมือไม่ขาดตลาดอย่างแน่นอน” เพราะปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 2ของโลก ผลิตมากกว่าความต้องการใช้ในประเทศถึง 10 เท่า

แต่เป็นไปได้คือช่วงนี้มีการตั้งโรงพยาบาลสนาม หลังจากที่โควิดกลับมาแพร่ระบาดในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้ไปติดปัญหา “คอขวดด้านโลจิสติกส์” หลายรายมีถุงมือที่รอส่งมอบจำนวนมาก เพียงแต่ตอนนี้มีเรื่องเร่งด่วนมาตรการต่าง ๆ ทำให้ขนส่งลำบาก

อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมรับรองว่าจะมีการให้ priority กับผู้ใช้ในประเทศทั้งโรงพยาบาล โรงงาน และผู้ใช้ (end user) เป็นหลักสำคัญ

และในอนาคตไทยจะมีปริมาณซัพพลายถุงมือยางเพิ่มขึ้น โดยหลัก ๆ มาจากผู้ผลิตเจ้าเดิมทุกรายขยายกำลังการผลิต ตอกย้ำว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่ถุงมือประเทศไทยจะขาด

ราคาถุงมือไทยถูกที่สุดในโลก

“ผมยืนยันได้ว่าถุงมือในประเทศไทยราคาถูกที่สุดในโลกแล้ว เพราะไทยเป็นผู้ผลิตถุงมือยางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่เพียงถูกที่สุด แต่ปัจจุบันราคาถุงมือที่จำหน่ายในประเทศไทยถูกกว่าราคาส่งออก 30% และไม่มีการปรับราคาขายในประเทศตามราคาส่งออกด้วย โดยเฉพาะการจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลรัฐจะมีราคากลางที่กระทรวงการคลังกำหนดต้องขายตามราคานั้น

ในด้านราคาส่งออกจะปรับขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับสเป็กที่จะส่งออกด้วย และการทำสัญญาของผู้ผลิตแต่ละเจ้าที่ผลิต และประเภทของถุงมือที่ผลิต

“ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาถุงมือมีหลายอย่างมาก เช่น วัตถุดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดปรับขึ้น ยางสังเคราะห์ พลาสติก ยางธรรมชาติปรับขึ้นหมด ค่าน้ำมัน ค่าระวางเรือปรับขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนผู้ผลิตสินค้าทุกชนิด”

มาร์เก็ตแชร์ไม่โต

“ที่ผู้ผลิตไทยส่วนใหญ่ขยายกำลังการผลิต นั่นเพราะมีดีมานด์รองรับอยู่แล้วการส่งออกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยิ่งมีวัคซีนเข้ามายิ่งทำให้ความต้องการใช้ถุงมือเพิ่มขึ้น เพราะทุกครั้งที่ฉีดวัคซีนต้องใส่ถุงมือ”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดส่งออกถุงมือจะเติบโต แต่ไทยอาจจะไม่สามารถเพิ่ม “มาร์เก็ตแชร์” ในตลาดโลกได้ เพราะไทยขยายสู้มาเลเซียและจีนไม่ได้

อุปสรรคสำคัญมาจากการพัฒนา ecosystem ของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การขยายโรงงานที่ยังลำบาก

เบียดมาเลย์-จีน

“ปัจจุบันเทียบแล้ว โรงงานถุงมือยางขนาดใหญ่ของมาเลเซียติดท็อป 10 ของโลก มี 7-8 รายส่วนใหญ่ผลิตไนไตรล์กับยางธรรมชาติ ประเทศจีนมี 3 รายส่วนใหญ่ถุงมือไวนิลเป็นหลัก และตอนหลังมาผลิตแข่งไซซ์กับมาเลเซียได้ แต่ไทยมี 1 รายเท่านั้นที่ผลิตถุงมือยางธรรมชาติและไนไตรล์”

ถุงมือยางเป็นธุรกิจหลักของมาเลเซียมาตั้งแต่ปี 1980 เป็นที่เชิดหน้าชูตา แต่ธุรกิจถุงมือยางของไทยไม่เคยอยู่ในสายตารัฐบาล คนไทยเองก็เพิ่งจะมารู้จักธุรกิจถุงมือ

“รัฐบาลมาเลเซียสนับสนุนเต็มที่ มีผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงซัพพลายเออร์ต่าง ๆ พร้อมมาก ผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มาร์เก็ตแคปเป็นแสนล้าน มีแผนขยายการผลิตชัดเจน ‘ทุกเจ้า’ รวมกันใหญ่กว่าเรา 5 เท่า”

แม้ว่าตอนนี้มาเลเซียจะมีนโยบายที่จะลดผลิตถุงมือยางธรรมชาติ แต่เรายังเป็นรองผู้ผลิตรายใหญ่ของมาเลเซีย คือ ท็อปโกลฟ ซึ่งยังครองอันดับ 1 ส่วนสถานะการผลิตไนไตรล์ ผู้ผลิตไทยน่าจะอยู่อันดับ 6-7 ของโลก

ขณะที่จีนกับเราเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ใกล้เคียงกัน แต่รัฐบาลจีนมีมาตรการสนับสนุนธุรกิจเพื่อขยายออกไปตีตลาดทั่วโลกเช่นกัน

เสริมแกร่งไทย

ไทยมีสัดส่วนผู้ผลิตรายกลางและรายเล็กจำนวนมาก ต่างจากมาเลเซียที่จะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งเท่าที่ผมสัมผัสกับคนในสมาคม หลายรายต้องการแหล่งเงินทุนเป็นอันดับแรก

ที่ผ่านมามีโครงการที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดำเนินการมาเป็นโครงการที่ดี แต่โครงการนั้นไม่ได้ให้กู้ แต่เป็นการชดเชยดอกเบี้ยให้เอกชน 3% คือ ผู้ประกอบการต้องไปหาแบงก์ไปให้กู้เอง ถ้าแบงก์ให้กู้ ก็นำมาขอชดเชยดอกเบี้ย 3% แต่ถ้าผู้ประกอบการไปหาแล้วแบงก์ไม่ให้กู้ ก็จบเลย

สิ่งที่เราต้องการคือ ต้องหาแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะมาในรูปแบบไหนก็ได้ เพื่อนำมาพัฒนากำลังการผลิตขยายไปสู้ระดับโลกได้ เพราะตอนนี้ไทยขยายได้ก็น้อยมาก ที่คุยกันเห็นว่าที่เราขยายไม่ได้มีนัยยะสำคัญในตลาดโลกแค่ช่วยตัวเลขส่งออกได้

นอกจากนี้ การสนับสนุนพวกบีโอไอ ความสะดวกในการตั้งโรงงาน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ


ในเรื่องตลาดต้องการเจรจาลดภาษี หากกระทรวงพาณิชย์มีแผนจะเจรจาเปิดตลาดลดภาษีถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ตัวอย่างเช่น ปากีสถาน เปิดตลาดให้ถุงมือยางจากมาเลเซียเข้าไปเสียภาษี 2% ส่วนถุงมือยางไทยเสียภาษี 20% และมีอีกหลายประเทศที่เป็นอย่างนี้ หรือการเว้นภาษีในช่วงนี้สำหรับถุงมือยางซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นช่วงโควิด