“Work From Home” ทำไข่ไก่ราคาพุ่ง! ฟองละเกือบ 3 บาท

ไข่ไก่

“สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่” ชี้ไข่คละหน้าฟาร์มปรับขึ้นเกือบฟองละ 3 บาท หลังโควิดระลอก 3 หนุนดีมานด์ประกอบอาหารอยู่บ้านพุ่ง ผู้เลี้ยงลดการผลิตไข่ไก่ส่วนเกิน ด้านกรมปศุสัตว์เร่งนโยบายยกระดับพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง cage free eggs หวังเพิ่มมูลค่า เจาะตลาดส่งออก คาดดันมูลค่าเพิ่มอีก 20%

รายงานข่าวจากกรมการค้าภายในระบุสถานการณ์ราคาปัจจุบัน (12 พ.ค. 2564) ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม 2.90 บาท/ฟอง ไข่ไก่ เบอร์ 0 ราคา 3.65 บาท/ฟอง

เบอร์ 1 ราคา 3.45 บาท/ฟอง ส่วนราคาขายค้าปลีก เบอร์ 2 ราคา 3.25 บาท/ฟอง เบอร์ 3 ราคา 3.05 บาท/ฟอง เบอร์ 4 ราคา 2.85 บาท/ฟอง ปรับขึ้นสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

ราคาไข่

โดยมาจากสภาพอากาศร้อนจัดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงโดยเฉพาะไข่เบอร์ใหญ่ และความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรง จึงเพิ่มปริมาณการซื้อไข่ไก่ เพื่อประกอบอาหารภายในครัวเรือน อีกทั้งมาตรการขอความร่วมมือปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรง เพื่อแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ขณะนี้ปรับตัวดีขึ้นเฉลี่ยฟองละ 2.90 บาก จากช่วงเวลาเดียวกัน ปีที่แล้วฟองละ 2.30 บาท ผลมาจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอก 3

ทำให้ภาครัฐมีมาตรการให้ประชาชนทำงานที่บ้าน (work from home) เคร่งครัดมากขึ้น ประชาชนจึงหันมาประกอบอาหารรับประทานเอง การจำหน่ายไข่ไก่ในร้านค้าปลีกตามชุมชน มีการสั่งออร์เดอร์สินค้ามากขึ้น ประกอบกับกำลังผลิตแม่ไก่ไข่ยืนกรงประมาณ 50 ล้านตัว ผลิตไข่ไก่ได้ประมาณ 41-42 ล้านฟองต่อวัน

“ปกติช่วง ม.ค.-เม.ย.จะเกิดปัญหาราคาไข่ไก่ทุกปี แต่โควิดรอบนี้ ตั้งแต่ช่วง พ.ค.แตกต่างจากปีที่ผ่านมาอย่างมาก ราคาขยับขึ้น เพราะความต้องการมากขึ้นกว่าปกติ เพราะไข่ไก่เป็นสินค้าอาหารที่ทำง่าย หากเทียบผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกแรกช่วง เม.ย. 2563 ได้รับผลกระทบจากประกาศห้ามส่งออก เพื่อให้มีไข่ไก่เพียงพอในประเทศ เกิดภาวะไข่ไก่ล้นตลาด เกษตรกรจำเป็นต้องขายฟองละ 2.3 บาทต่อฟอง ขาดทุนจากต้นทุนฟองละ 2.69 บาท”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาจำหน่ายไข่ไก่จะเริ่มขยับสูงขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งเกษตรกรหลายรายยังแบกรับต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูง ทำให้ลดกำลังผลิตลง ขอให้ภาครัฐเฝ้าติดตามราคาอาหารสัตว์ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยงด้วย

ส่วนระยะยาว การที่กรมปศุสัตว์มีนโยบายรับรองมาตรฐานไข่ไก่แบบไม่ใช้กรง (cage free eggs) อย่างเป็นทางการนั้น จะยิ่งส่งผลดีภาคการผลิตไข่ไก่ของไทยให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้า และส่งผลดีต่อผู้บริโภค และเกษตรกร ช่วยยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยของไทย และช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ใช้กรงเพิ่มขึ้น

“มาตรฐานไข่ไก่แบบไม่ใช้กรง เป็นนโยบายที่ภาครัฐมาถูกทาง โดยพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงพัฒนาการเลี้ยงมาตรฐานสากล สอดคล้องเทรนด์การบริโภคและเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้า ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกอาจเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าการเลี้ยงทั่วไปในอนาคต”

นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การส่งเสริมการรับรองมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง cage free eggs เป็นอีกทางเลือกให้กับผู้บริโภค มาตรฐานอาหารปลอดภัย มาตรฐานหลักสวัสดิภาพสัตว์ในระบบการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย

“หากสามารถจำหน่ายสินค้าไข่ cage free eggs ได้ จะเพิ่มการขยายการส่งออกสินค้าไข่ไก่ premium ไปยังประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะตลาดสินค้าไข่ไก่ ประเทศฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป ที่มีกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพสัตว์ในการเลี้ยงสัตว์ ให้เกษตรกรปรับมาตรฐานการเลี้ยงสินค้าไข่ cage free eggs คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกไข่ไก่สดเพิ่มขึ้น 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 84 ล้านบาท”