โควิดฉุดจีดีพีปี’64 เหลือ 0.5-2% กกร.ชงเพิ่มเงิน “คนละครึ่ง” เป็น 6,000 บาท

นักท่องเที่ยว
FILE PHOTO : Mladen ANTONOV / AFP

กกร. เร่งรัฐอัดฉีดเงินกระตุ้นผ่านทุกโครงการเร็วที่สุด ชงเพิ่มวงเงิน “คนละครึ่ง” จาก 3,000 เป็น 6,000 บาท ทำเงินสะพัดในระบบได้ถึง 1.8 แสนล้านบาท หลังโควิด-19 ทุบเศรษฐกิจคาด GDP ปี 2564 โตได้แต่ 0.5-2% จากที่คาดการณ์เดือนก่อนนี้ 1.5-3%

วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 มีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม

โดยธุรกิจบริการดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และ 3 เป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒน์ฯ ปรับลดประมาณการ GDP ในปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 2%

ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย GDP ปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.5% – 2.0% จากเดิม 1.5-3% เนื่องจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม ด้านการส่งออกปรับเพิ่มว่าจะขยายตัว 5% – 7% จากเดิม 4-6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1% – 1.2%

ดังนั้น รัฐเองควรต้องเร่งแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีและปี 2565 กลับมาฟื้นตัวได้ ต้องมีการประชาสัมพันธ์แผนการบริหารจัดการวัคซีนที่มีความชัดเจน ไปพร้อมกับการเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อเสริมความเชื่อมั่นในการเข้ารับการฉีดวัคซีน

ทั้งยังขอให้รัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดย 1.เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย โดยปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาสที่ 4

 

2.เร่งผลักดัน พ.ร.ก.เงินกู้ 700,000 ล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอ และดำเนินโครงการด้าน สาธารณสุข ด้านการเยียวยา ชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง

3.เร่งรัดมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะ “โครงการคนละครึ่ง” ให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อได้ในเดือนมิถุนายน และพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 90,000 ล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง

4.เสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออม โดยสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อ สินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 3-5 หมื่นบาทต่อราย ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่าย