“อีสท์ วอเตอร์” อั้นไม่ไหวขึ้นค่าน้ำครั้งแรกรอบ 5 ปี หลังต้นทุนค่าไฟ-หาแหล่งน้ำใหม่เพิ่ม แจงเรตใหม่คิดตามจริง 4% WHAUP ร่อนหนังสือถึงการนิคมฯขอไฟเขียวขึ้นค่าน้ำ ด้านผู้ว่าการ กนอ.-สภาอุตฯขอเบรกตัวโก่ง เตรียมหารืออีสท์ วอเตอร์อีกครั้ง หวั่นภาคอุตสาหกรรมสะดุด
ท่ามกลางการขยายตัวของการค้า-การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้ความต้องการใช้ “น้ำ” ของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงตามไปด้วย ในขณะที่การหาแหล่งน้ำใหม่ ๆ เพื่อนำมาบริหารจัดการทั้งภาคอุตสาหกรรม-เกษตรกรรม และเพื่อการอุปโภคบริโภค เต็มไปด้วยความยากลำบาก จนต้องลงทุนเป็นจำนวนมากในระบบชลประทาน เกิดความขัดแย้งกับผู้ใช้น้ำในทุกภาคส่วน จนบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ ไม่สามารถปรับขึ้นค่าน้ำ 7% มาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563
นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า บริษัทได้ประกาศใช้โครงสร้างราคาค่าน้ำใหม่เฉลี่ย 4% แล้ว ถือเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4-5 ปี จากปัจจัยหลักคือ ต้นทุนค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้น การลงทุนพัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำใหม่เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราค่าน้ำใหม่จะพิจารณาปรับขึ้นตามความเหมาะสม ผู้ใช้น้ำแต่ละพื้นที่จะมี “เรตค่าน้ำ” ที่ไม่เท่ากัน อยู่ระหว่าง 3-5% มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2564
“เรตค่าน้ำใหม่เป็นการปรับขึ้นในทุกพื้นที่ที่บริษัทให้บริการ ไม่ได้ปรับมา 5 ปีแล้ว ขณะที่ต้นทุนค่าไฟ การลงทุนเพิ่มเติมการไปหาแหล่งน้ำใหม่ ทำให้บริษัทมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การปรับครั้งนี้จึงเป็นเรื่องปกติต้นทุนที่แท้จริงของเราปรับขึ้นมากกว่า 4% แต่เราพยายามคอนโทรลคอสต์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การปรับขึ้นค่าน้ำจะไม่รวมน้ำในส่วนที่ขายให้กับการอุปโภคบริโภค ยังไม่ปรับขึ้น ประมาณ 9.90 บาทต่อ ลบ.ม. เท่ากับโดยเฉลี่ยแล้วก็ปรับประมาณ 10 บาทกว่า 10.60-10.70 เพิ่มอีก 4-5% 11 บาทกว่า ถือว่าไม่เยอะเทียบ 5-6 ปีที่ไม่ได้ปรับขึ้นเลยเฉลี่ยปีหนึ่งขึ้นไม่ถึง 1%”
นายจิรายุทธกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าในประเทศจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 3 แต่จากการหารือและเจรจากับผู้ใช้น้ำมาตลอด พบว่าไม่ได้มีการขอให้บริษัทเลื่อนแผนการปรับราคา เพราะภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจฟื้นตัวแล้วจึงมีความต้องการใช้น้ำปริมาณสูงกว่าปีที่แล้วที่ประสบภาวะภัยแล้ง “แม้มีดีมานด์ แต่มีน้ำไม่พอใช้” แต่ตอนนี้ดีมานด์ฟื้นกลับมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าปีที่แล้ว และปริมาณน้ำก็มีเพียงพอด้วย
“ภาพรวมปริมาณน้ำปีนี้ กรมอุตุฯเพิ่งประกาศเข้าฤดูฝนไปเมื่อ 15 พ.ค.ปริมาณฝนจะสูงมากในช่วงนี้จนถึงต้น ๆ ส.ค. แต่ต้องเฝ้าติดตามว่า ไตรมาส 2 ปริมาณน้ำฝนเป็นเท่าไร จึงจะประเมินได้ว่าถึงสิ้นปีจะมีน้ำเหลือในปีถัดไปเท่าไร ถ้าฝนตกปกติก็จะมีน้ำเหลือเฟือสำหรับปีนี้”
อย่างไรก็ตาม ทางอีสท์ วอเตอร์ยังเดินหน้าแผนการลงทุนหาแหล่งน้ำใหม่เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ตามจำนวนลูกค้า หากไม่เพิ่มแหล่งน้ำจะเสี่ยง ปีใดมีฝนตกน้อยก็จะมีน้ำไม่เพียงพอ โดยแต่ละปีบริษัทเตรียมงบประมาณลงทุนปกติเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท แต่ปีนี้ยังไม่มีโครงการใหม่ที่มีขนาดใหญ่จึงเน้นลงทุนเพื่อซื้อน้ำจากแหล่งน้ำเอกชนเท่านั้น
“แนวโน้มรายได้ของอีสท์ วอเตอร์ทั้งปี คาดว่าจะสูงกว่าปีก่อน 10% มูลค่าก็เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนค่าน้ำที่ปรับขึ้น 4%”
ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสแรก อีสท์ วอเตอร์ มีรายได้จากการขายและบริการ 1,230.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.39% โดยรายได้จากน้ำดิบ 794.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.80% , น้ำประปา 361.77 ล้านบาท ลดลง 3.14%, น้ำอุตสาหกรรม 4.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% และมีกำไรสุทธิ 373.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.78% โดยกลุ่มลูกค้านิคมอุตสาหกรรมเป็นสัดส่วน 59% กลุ่มอุปโภคบริโภค 28% กิจการประปาของกลุ่มบริษัท 9% กลุ่มสวนอุตสาหกรรม 2% และโรงงานทั่วไป 2%
ด้าน ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ในกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือถึงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อขออนุมัติให้ปรับขึ้นค่าน้ำที่ให้บริการในนิคมขึ้นอีก 4% เนื่องจากต้นทุนน้ำที่ได้รับซัพพลายจากอีสท์ วอเตอร์ เพิ่มขึ้น 4% ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 โดยในแต่ละปีอีสท์ วอเตอร์ซัพพลายน้ำให้บริษัทในสัดส่วน 70% ซึ่ง กนอ.พิจารณาอนุมัติแล้ว
สำหรับ WHAUP เป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำเพื่อรองรับการใช้งานในนิคมของกลุ่ม WHA ในประเทศไทย 10 นิคม และลูกค้านอกนิคม ภาพรวมความต้องการใช้น้ำในอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น รถยนต์, ปิโตรเคมี, โรงไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมเหล็กที่ได้รับผลดีจากการก่อสร้างฟื้นตัวหลังโควิด-19
ขณะที่นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งในเดือนที่ผ่านมา กล่าวว่าผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีรายงานว่า บางโรงงานพบผู้ติดเชื้อจนต้องหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้นนี้จะเตรียมหารือกับบริษัทอีสท์ วอเตอร์ ถึงความเป็นไปได้ในการ “ชะลอ” ขึ้นค่าน้ำในนิคมอุตสาหกรรมจากที่ปรับขึ้นไปแล้ว
“เราจะลองประสานกับทางอีสท์ วอเตอร์ดูว่าจะช่วยเหลือได้ไหม เราต้องการลดความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนน้ำต้องหาแหล่งน้ำให้เพียงพอกับภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าไปช่วยตอนที่เขาแบกภาระอยู่ หาต้นทุนที่ถูกลง ในอนาคตต้องหาแหล่งน้ำใหม่เพิ่ม”
สอดคล้องกับนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องการปรับขึ้นค่าน้ำ “บริษัทควรมาหารือกันอีกครั้ง” เพราะจังหวะนี้ไม่เหมาะสมที่จะปรับราคาต้นทุนค่าน้ำอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเพิ่มจากเดิม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดอยู่แล้ว ยังต้องมาแบกต้นทุนค่าน้ำอีก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำปริมาณมาก เช่น เครื่องดื่ม และด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถจะนำต้นทุนนี้ไปคำนวณและปรับขึ้นราคาสินค้าหรือผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้ เท่ากับต้องแบกไว้เอง