แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ 13 นำไทยกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19

คณิศ แสงสุพรรณ / ดอน นาครทรรพ / พิสิทธิ์ พัวพันธ์

EEC Macroeconomic Forum ได้จัดสัมมนาประมาณการเศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้าในต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ โดย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้นไม่ได้สร้างการสั่นสะเทือนเพียงแต่ระบบสาธารณสุข แต่สะเทือนไปถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก

ขณะที่ประเทศไทยเองนักวิชาการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ได้ร่วมหารือแนวทางเตรียมความพร้อมในการจัดทำ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 13 (พ.ศ. 2566-2570)” เพื่อผลักดันเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้า

“เรื่องสำคัญที่จะเกิดขึ้นภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เราจะเห็นภาพ 5 ปีข้างหน้าที่จะเหมือนแผนเดิมไม่ได้ ต้องทำนโยบายการเงินและทำภาคแมโครให้ดี เพื่อให้ GDP ไทยโตให้ได้ 4-5% นั่นคือ การเพิ่มผลิตภาพการผลิตรวม (productivity) ในเรื่องแรงงาน รัฐต้องเร่งผลิตคนให้ตรงความต้องการพร้อมรับการลงทุนหลังโควิด-19 ต้องสร้างระบบ automation

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน สร้างฐานความรู้ใหม่ให้แรงงาน การนำบุคลากรจากต่างประเทศมาเพิ่มกำลังคน ส่วนด้านทุน ต้องเร่งผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย คง 12 S-curve ให้ไปต่อ การลงทุนภาครัฐระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ต้องมารองรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่”

ดังนั้น ปัจจัยหลักในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จะมีทั้งเรื่องการปรับสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล การขนส่งสมัยใหม่เชื่อมโยง CLMVT และอาเซียน ความเท่าเทียมกันระหว่างเมืองกับชนบท การปรับโครงสร้างภาคเกษตร/ธุรกิจชุมชน การทำเขตพัฒนาพิเศษอีสานเข้าสู่ลาว และจีน

100 ล้านโดส GDP โต 4.7%

ด้าน นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2564-2565 ไว้ว่า กรอบการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ระหว่าง 1.0-2.0% และปี 2565 จะขยายตัวระหว่าง 1.1-4.7% เพราะการระบาดของโควิดระลอก 3 ได้เปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ “ทำให้การฟื้นตัวล่าช้าออกไปและไม่เท่ากัน” อย่างอุตสาหกรรมยังคงไปได้ดี

เพราะเศรษฐกิจโลกแข็งแกร่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญทำให้การส่งออกสูงกว่าปี 2561 จึงส่งผลดีต่อตลาดแรงงาน แต่เกิดขึ้นในวงจำกัด แต่ก็ยังคงมีความเปราะบางเพราะมีการจ้างน้อยลง ไตรมาส 1/64 จึงมีผู้ว่างงานจำนวน 770,000 คน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องทำเพื่ออนาคตเศรษฐกิจไทยจะขึ้นอยู่กับการผนึกกำลังของ 4 นโยบาย คือ

1) นโยบายการจัดหาและการกระจายวัคซีน เช่น การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หากรัฐสามารถจัดหาและกระจายวัคซีนได้ 100 ล้านโดส ในปี 2564 ตามแผน ก็จะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุดที่จะเกิดขึ้นภายในไตรมาส 1/2565 หรือ GDP โตได้ 4.7% หากทำไม่ได้ เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ช้าสุดช่วงไตรมาส 4/2565 และ GDP จะโตเพียง 1.1%

2) นโยบายการคลัง เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการทางภาษี บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค

3) นโยบายการเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหลือเพียง 0.5

และ 4) นโยบายการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านสถาบันการเงิน เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย พักชำระหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้

การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากภาครัฐอาจมีมาตรการบรรเทาค่าครองชีพเพิ่มเติม ประกอบกับแรงกดดันอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ในขณะเดียวกันกลับซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่เลวร้ายอยู่แล้ว ปัจจุบันอยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท

ดึงสภาพคล่องจากแบงก์สู่ธุรกิจ

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงมาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2563-2564 และความยั่งยืนทางการคลังของไทยว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 รัฐบาลใช้วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท, พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออกซอฟต์โลนเพื่อดูแลภาคธุรกิจ และ SMEs 500,000 ล้านบาท, พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน 400,000 ล้านบาท โดย พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาทนั้น

ทั้งหมดนำมาใช้เพื่อออกมาตรการบรรเทาและฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่าน 8 โครงการสำคัญ อาทิ เราไม่ทิ้งกัน-คนละครึ่ง-เราชนะ-ช้อปดีมีคืน-เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-ม33เรารักกัน เป็นต้น โดยรัฐบาลใช้ไป 650,000 ล้านบาท เหลือ 350,000 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจต่ออีก ซึ่งจะพยุงเศรษฐกิจไปได้ต่อจนถึงสิ้นปี 2565 ด้วยการขยายระยะเวลาและเพิ่มวงเงินในบางมาตรการ อย่างโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ยิ่งใช้ยิ่งได้ เพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเฟส 3

ขณะเดียวกันทางด้านการคลัง ในส่วนหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 54.3% ต่อ GDP ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์กรอบวินัยการเงินการคลังที่ไม่เกิน 60% ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินในรูปแบบเงินบาท “ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ” โดยการกู้เงินเพิ่ม 700,000 ล้านบาทนั้น อาจส่งผลต่อหนี้สาธารณะขั้นต้น (gross debt) เกินกว่า 60% ต่อ GDP เล็กน้อย

แต่จะไม่กระทบต่อความยั่งยืนของการคลังในระยะปานกลาง โดยประเทศไทยยัง “จำเป็นต้องมีหนี้สาธารณะระดับไม่น้อยกว่า 30% ต่อ GDP เพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดพันธบัตร (bond) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศและสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน” นายพิสิทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมี “สภาพคล่องส่วนเกินเป็นจำนวนมาก” ณ ม.ค. 2564 การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ประมาณ 5 ล้านล้านบาท แม้ว่าสินเชื่อธุรกิจขยายตัวชะลอลงในไตรมาสที่ 1/2564 แต่มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯจะช่วยให้ SMEs ได้รับสินเชื่อมากขึ้น

“ประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของระดับอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำแล้ว แต่โจทย์สำคัญก็คือ การกระจายสภาพคล่องในระบบธนาคารที่มีอยู่มากให้ไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ให้ทั่วถึง ดังนั้น จึงควรใช้มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควบคู่กับกลไกการค้าประกันสินเชื่อ รวมทั้งเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้”

เพิ่มลงทุน 6 แสนล้าน

ขณะที่ นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ไทยไม่มีปัญหาทางการเงินจนวันที่โควิด-19 เข้ามารอบนี้ ทำให้รายได้ของประเทศหายไปถึง 2.2 ล้านล้านบาท การทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ต้องการให้เศรษฐกิจไทย GDP ขยายตัวจาก 2.5% เป็น 4.5% ให้ได้นั้น

จำเป็นต้องเกิดการลงทุนเพิ่มปีละ 600,000 ล้านบาท ภายใต้ข้อจำกัดที่ว่า รัฐไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีก จึงจำเป็นต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่น คือ สภาพคล่องส่วนเกินที่มีในระบบ/เงินออมที่เหลือประมาณ 200,000 ล้านบาท การดึงเงินลงทุนจากภาคเอกชนและต่างประเทศ (FDI) ฟื้นการท่องเที่ยว เงินผ่านตลาดทุนอีก 400,000 ล้านบาท


ขณะเดียวกันต้องยึด model EEC สร้างพื้นที่พิเศษ เพิ่มการลงทุนรัฐและเอกชน (PPP) ปลดล็อกกลไกรัฐและสร้างศักยภาพพื้นที่ ดึงเงินออมจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่และต่างประเทศมาลงทุนในพื้นที่ สร้างเมืองใหม่มีประชากรในเขตเมืองจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจเมืองรองขึ้นมาด้วย