“WHAUP” โตพรวด กวาดลูกค้ากัลฟ์-ปตท.

ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์
ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)
สัมภาษณ์พิเศษ

อานิสงส์การส่งออกฟื้นตัวหนุนโรงงานกลับมาใช้กำลังการผลิตมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจสาธารณูปโภค “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ผู้ผลิตน้ำ (ยูทิลิตี้) และไฟฟ้า (พาวเวอร์) ในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเครือ WHA 11 แห่ง ถึงทิศทางธุรกิจไตรมาส 2

ฉายภาพธุรกิจน้ำ-ไฟฟ้า

ในกลุ่มยูพี ปัจจุบันมีรายได้จากธุรกิจน้ำคิดเป็นสัดส่วน 60% และธุรกิจไฟฟ้าคิดเป็น 40% ของรายได้ทั้งหมด เราตั้งเป้าปีนี้ค่อนข้างท้าทาย ธุรกิจน้ำจะเติบโต 34% จาก 114 เป็น 153 ล้านลูกบาศก์เมตร และไฟฟ้าตั้งเป้าเติบโต 14% จาก 590 เป็น 670 เมกะวัตต์

โดยรายได้จะเติบโต 25% จากปีก่อน 2,600 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ยอดขายน้ำกลับมาฟื้นตัว เติบโต 14% เนื่องจากไม่มีปัญหาภัยแล้ง ภาพรวมสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกดีกว่าปีที่แล้ว และดีกว่าเส้นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 15 ปีด้วย

“ไตรมาส 1 จีดีพีจีน อเมริกาฟื้นตัวดี ลูกค้าที่เป็นโรงงานส่งออกในนิคม โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า รถยนต์ โรงเหล็ก 4 กลุ่มหลักทำให้รีคัฟเวอร์กลับมาอย่างมีนัยสำคัญ ยอดใช้น้ำเติบโต 14% หากไปถึงเมษายนเติบโต 18% แน่นอนว่าน้ำไฟเติบโตควบคู่กันไป”

โดยธุรกิจไฟฟ้าไตรมาส 1 เติบโต 1,668% จากการเพิ่มจำนวนเมกะวัตต์ และการเข้าไปรับดำเนินการในโครงการขนาดใหญ่ 5 เมกะวัตต์ ให้ลูกค้าผู้ประกอบรถยนต์ ในนิคมอีสเทิร์นซีบอร์ดรับรู้รายได้ 75% แต่ถ้าตัดรายได้ส่วนนี้ออกก็ยังเห็นการเติบโตธุรกิจไฟฟ้าจากสัญญา PPA กว่า 300%

ต่อยอดน้ำพรีเมี่ยม

ธุรกิจน้ำจะมีทั้งน้ำดิบ น้ำประปา และน้ำเสีย และเมื่อปลายปีก่อนมีการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ premium clarified water หรือน้ำกรองสะอาดพิเศษ และ demineralized water หรือน้ำปราศจากแร่ธาตุ (น้ำดีมิน) เข้าสู่ตลาดในกลุ่มสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (value added product) โดยมีจุดเปลี่ยนมาจากปัญหาภัยแล้งปีที่แล้ว จึงพยายามหาแหล่งน้ำทางเลือกมารองรับลูกค้า

“ปกติเรารับบำบัดน้ำเสียให้โรงงานได้ค่าบำบัด และนำน้ำเสียที่บำบัดแล้ว ซึ่งแทนที่จะปล่อยทิ้งตามแหล่งน้ำสาธารณะมาเข้าระบบพิเศษ จนได้เป็นน้ำพรีเมี่ยมแคลริไฟด์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของซัพพลายเออร์ญี่ปุ่นที่เราลงทุนไป 400 กว่าล้าน ทำให้น้ำเสียที่ผ่านระบบกลับมาได้น้ำดีมิน 60-70% ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ต่อยอดซูเปอร์พรีเมี่ยมเกรด เรามีแผนจะส่งประกวดนวัตกรรมด้วย”

ข้อดีคือ คุณภาพน้ำนี้จะดีกว่าปกติ และลูกค้าไม่ต้องไปผลิตน้ำเหล่านี้เองในสเกลเล็ก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของลูกค้าถูกลง สมมุติเราขายน้ำประปาในนิคม 27 บาท แต่ขายน้ำดีมิน 37 บาท แต่ลูกค้าผลิตเองจะมีต้นทุน 50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ถือเป็นการ “ลดต้นทุน-เพิ่มมาร์จิ้น”

กว้านลูกค้า “กัลฟ์-ปตท.”

ปัจจุบันการจำหน่ายน้ำ value added มีประมาณ 1-2% ของภาพรวม เรามีเป้าหมายว่าจะเพิ่มสัดส่วนให้ได้ปีละ 30% แต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำเสียที่ลูกค้าซัพพลายออกมาให้บำบัดด้วย

“แนวโน้มความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันเรามีสัญญาระยะยาว 15 ปี จำหน่ายน้ำแคลริไฟด์ให้โรงไฟฟ้ากัลฟ์ ขนาด 2,500 เมกะวัตต์ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ กำลังซีโอดี โดยแบ่งเป็น 4 บล็อก บล็อกละ 625 เมกะวัตต์ แต่ละบล็อกใช้น้ำ 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะเริ่มทยอยซีโอดีไตรมาส 2 ปีนี้ และทยอยซีโอดีทุก ๆ 2 ไตรมาสต่อ 1 บล็อก จบประมาณปีหน้า”

ส่วนน้ำดีมินมีสัญญากับกลุ่มจีพีเอสซี 15 ปี เพื่อนำไปใช้ในกลุ่ม ปตท. ตอนนี้ทำสัญญาเฟส 1 เมื่อปีที่แล้ว เฟส 2 ไตรมาส 1 ปีนี้ และเฟส 3 กำลังดูดีมานด์กลุ่มเค้า นอกจากนี้ยังมีนิคมใหม่ของกลุ่ม WHA ชื่อนิคม WHA RY 36 คาดว่าจะมีดีมานด์ใช้น้ำในต้นปีหน้า

เจาะตลาดนอกนิคม WHA

บริษัทได้สิทธิแต่เพียงเจ้าเดียวกับ WHA ตลอด 50 ปี แต่ที่ท้าทาย คือ การไปพัฒนาลูกค้ากลุ่มนอกนิคมของเรา ซึ่งในปีที่แล้วได้สัญญาสัมปทาน 30 ปี กับ ปตท. ที่ EECi เป็นระบบบำบัดน้ำเสียขนาดไม่ใหญ่มาก แต่เป็นก้าวแรกที่เราออกไปดำเนินการนอกกลุ่ม WHA

“กลุ่มลูกค้านอกนิคมจะเน้นอุตสาหกรรมเป็นหลัก รวมถึงนิคมข้างเคียง และยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่อยากให้ไปช่วยให้ประชาชนในชุมชนรอบนิคมให้มีน้ำสะอาดใช้ในราคาที่เหมาะสม”

ไฟฟ้าสู่ 300 MW

ไฮไลต์สำคัญของธุรกิจไฟในไตรมาส 1 ปีนี้ เราเพิ่มการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ได้ 44 เมกะวัตต์ จากไตรมาส 1/2563 ที่มี 18 เมกะวัตต์ และปลายไตรมาส 1 ทำสัญญา PPA มาแล้ว 61 เมกะวัตต์ คาดว่าทั้งปี 2564 จะแตะ 90 เมกะวัตต์ และจะชน 300 เมกะวัตต์ใน 2 ปี หรือในปี 2566

ผุดแซนด์บอกซ์ขายไฟ

ที่สำคัญ ยังเริ่มดำเนินโครงการแซนด์บอกซ์ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ทำ P2P energy trading ขายไฟข้ามนิติบุคคล โดยใช้สายส่ง PEA ที่อีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุมัติหลักการแล้ว หากระบบไม่มีปัญหาจะสามารถลงทุนเพิ่มได้อีก 200 เมกะวัตต์ เพราะมีพื้นที่หลังคาแวร์เฮาส์ โรงงานสำเร็จรูป และบ่อน้ำในนิคม WHA อีกมาก

“การขายไฟข้ามนิติบุคคลจะทำให้ลูกค้าในนิคมได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก และมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินจากโซลาร์บนหลังคาลูกค้าช่วงพักเที่ยง หรือวันหยุดที่ไม่ได้ใช้งาน เราทดลองโครงการระบบกักเก็บ (Energy Storage) ช่วยยืดเวลาใช้งานจากช่วงที่มีแดด วันละ 4-5 ชั่วโมง เป็น 6-8 ชั่วโมง และตั้งใจว่าถ้าชาร์จเข้าในช่วงออฟพีก แล้วมาขายหรือมาใช้ช่วงพีกจะช่วยให้ต้นทุนถูกลง โมเดลนี้ลงทุนไป 30 ล้านบาท กำลังศึกษาเพื่อหาจุดที่คุ้มค่าต่อการลงทุน”

ยึดที่มั่น “เวียดนาม”

การลงทุนต่างประเทศ โฟกัสที่เวียดนามตามแผนบริษัทแม่ ที่ได้ลงทุนนิคม WHA เฟส 1 และระบบประปาเก๋อหล่อไปแล้ว

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ คือ WHA ID ได้รับวางระบบให้กับลูกค้ารายใหญ่ชื่อกอเท็ค ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้แอปเปิล และการขยายต่อท่อประปาในโครงการประปาที่ฮานอย ชื่อ ดวงริเวอร์ ซึ่งเป็นสัมปทานอินฟราสตรักเจอร์ขนาดใหญ่ ตอนนี้ใช้กำลังการผลิตประมาณ 60% ดีมานด์จะไต่ขึ้นจนเบรกอีเวนต์จะต้องใช้ยอดขายประมาณ 80% ของกำลังการผลิต”

ในปีที่แล้วเวียดนามเจอโควิดระลอก 1 รัฐบาลมีคำสั่งให้ฟรีซการก่อสร้าง เราต้องชะลอวางท่อไป 2 ไตรมาส พอครึ่งปีหลังจึงเริ่มวางท่อขยายเขตข้ามจากฮานอยไปอีก 2 จังหวัด ที่มีโรงงานจำนวนมาก ความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้น

Q2 ลุ้นดีลเวียดนาม

แผนการลงทุนที่เวียดนาม กำลังทำดีลทั้งน้ำและไฟฟ้า ส่วนไฟจะเน้นโซลาร์ฟาร์ม กำลังศึกษาโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาด 50-250 เมกะวัตต์ ของนักลงทุนรายหนึ่งที่มี 5 โปรเจ็กต์ โปรเจ็กต์ละ 50 เมกะวัตต์ กระจายหลายเมือง

“ถ้าซื้อหมด 250 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุน 7,000-8,000 ล้านบาท หรืออาจจะเลือกลง คาดว่าจะชัดเจนในไตรมาส 2 ถ้าต้องกู้สถานะทางการเงินดี/อี เรโชไตรมาส 1 อยู่ที่ 0.88 จากที่สถาบันการเงินกำหนด 2.5 จึงสามารถกู้ได้อีก 12,000-13,000 ล้านบาท โดยไม่กระทบเครดิตเรตติ้ง แต่ก็ต้องดูรีเทิร์นและความเสี่ยง และต้องขออนุมัติบอร์ด”

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะไม่รวมกับแผนการลงทุนเดิมที่วางไว้ 5 ปี 12,000 ล้านบาท หรือปีละ 2,000 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโตตามปกติ เช่น แหล่งน้ำ ซึ่งแม้ว่าปีนี้ไม่มีประเด็นเรื่องแล้ง แต่จะขุดบ่อเพิ่มในส่วนนิคมตะวันออกจะซัพพลายน้ำได้อีก 10,000-15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากปีที่แล้วมีขุดบ่อใหม่ที่นิคมสระบุรี 110 ไร่ เพื่อรองรับลูกค้าในอนาคต”

“ดร.นิพนธ์” ให้มุมมองว่า ขณะนี้เป็นจังหวะที่น่าลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ บริษัทจะแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่มีรีเทิร์นดีและความเสี่ยงต่ำ ซึ่งหากเทียบความต้องการใช้น้ำและไฟที่เวียดนาม เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาที่เข้าไปลงทุนจะเห็นว่าจีดีพี การลงทุนโดยตรง (FDI) ค่อนข้างเติบโตเร็ว และบริษัทยังมีสัดส่วนไม่ถึง 5% จึงมีโอกาสลงทุนได้อีก

“ส่วนไทยค่อนข้างอิ่มตัวจากปัญหาโควิด ลูกค้าจองแบ็กล็อกไว้ แต่เดินทางมาโอนที่ไม่ได้ นิวดีมานด์โรงงานใหม่ ๆ จะชะลอออกไปเหลือแค่โรงงานเดิมที่จะขยาย ทางรัฐบาลก็พยายามเร่งฉีดวัคซีน และเยียวยาตามงบประมาณที่มี ซึ่งถ้าฉีดเกิน 50-60% ทุกอย่างจะทยอยกลับมาเป็นปกติ”

ถึงอย่างไรก็ตาม “น้ำ-ไฟ” เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานมีโอกาสเติบโตสูง ที่สำคัญ WHA มีแผนเปิดตัวนิคมปีละ 1 นิคม ไม่ใช่เพียงในไทย แต่ในเวียดนามก็จะทยอยเปิดอีก 3 นิคม แน่นอนว่า WHAUP จะไปร่วมลงทุนด้วย