เมกะโปรเจ็กต์-โรงงานป่วน วิกฤตแรงงานชะลอรับออร์เดอร์

โควิด-19 คลัสเตอร์ใหม่ป่วนโรงงานอุตสาหกรรม-ไซต์งานก่อสร้างโปรเจ็กต์ยักษ์ ซ้ำเติมวิกฤตขาดแคลนแรงงาน อุตฯเกษตร-แปรรูปอาหารโอดต้องลดกำลังผลิต-ตัดใจไม่รับคำสั่งซื้อหวั่นผลิตไม่ทันออร์เดอร์ลูกค้า ชี้กลุ่มใช้แรงงานเข้มข้นเดือดร้อนหนัก เมืองชล เปิดศึกแย่งแรงงานต่างด้าว ดึงจากตลาดสดเข้าทำงานโรงงาน-โครงการก่อสร้าง มหาดไทยสั่งคุมเข้มเคลื่อนย้ายแรงงานเถื่อน 128 อำเภอชายแดนทั่วไทย

แม้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะระดมฉีดวัคซีนในอัตราเร่งมากขึ้น แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อรายวันในระดับที่สูง และล่าสุดพบผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวในโรงงานอุตสาหกรรม ไซต์งานก่อสร้างในโครงการของภาครัฐและเอกชน ทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และต่างจังหวัด กระทบภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลากหลายสาขา ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนแรงงานที่วิกฤตหนักอยู่แล้ว ทำให้หลายพื้นที่มีการซื้อตัว แย่งชิงแรงงานต่างด้าว

ขณะที่กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้ทุกจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการอย่างเฉียบขาดกับขบวนการขนแรงงานเถื่อน และคุมเข้มการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ป้องกันปัญหาการเคลื่อนย้ายเชื้อโรค อย่างไรก็ตาม การขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศแบบผิดกฎหมายยังมีต่อเนื่อง

เกษตร-ก่อสร้างขาด 5 แสนคน

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานส่งผลกระทบภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมรุนแรงขึ้น เพราะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก แรงงานต่างด้าวที่เดินหน้ากลับประเทศไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย และเมื่อเกิดการระบาดระลอกสอง ระลอกสาม การขาดแคลนแรงงานยิ่งวิกฤตหนักขึ้น

สถานการณ์ปัญหาแรงงานในประเทศไทยตอนนี้มี 2 ส่วนหลัก คือ ปัญหาการว่างงานในกลุ่มแรงงานทั่วไปที่ต้องใช้ทักษะสูงและภาคบริการ ซึ่งมีอัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 จนถึงไตรมาส 1 ปี 2564 ประมาณ 750,000 คน ว่างงานเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดระบาดที่มีการว่างงาน 300,000-400,000 คน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 2%

กับอีกส่วนหนึ่งเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยเฉพาะภาคเกษตร-ก่อสร้าง 500,000 คน ซึ่งกลุ่มหลังนี้ไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวคิดเป็นสัดส่วน 80-90% โดยในการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ผู้ประกอบการพยายามดึงแรงงานประเภทที่ไม่ใช่แรงงานเข้มข้นเข้ามาทำงานในระบบแรงงานเข้มข้น ให้มีระดับรายได้ที่ดี แต่ส่วนใหญ่แรงงานไม่สามารถทนทำงานได้ จึงต้องรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานแทน

ขาดแรงงานผลิตไม่ทันออร์เดอร์

เมื่อเกิดการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้นจึงได้รับผลกระทบรุนแรง ขณะเดียวกันก็กระทบต่อเนื่องกับโรงงานในฐานะเป็นผู้ผลิตสินค้า ปัญหาส่วนใหญ่มาจากไม่สามารถผลิตสินค้าส่งมอบได้ทันตามออร์เดอร์ แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อข้อเท็จจริงอยู่ที่แรงงานไทยมีไม่เพียงพอ และไม่สามารถนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาได้ในทันที ผู้ประกอบการจึงต้องอดทน พยายามรักษาแรงงานเก่าไว้ให้ได้

ขณะเดียวกันก็ต้องนำเครื่องไม้เครื่องมือมาเสริมในส่วนที่ขาดทดแทนแรงงานคน จึงต้องการให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนหรือแหล่งเงินหรือเงินกู้มาช่วยให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายย่อยให้สามารถนำไปใช้ขยายการลงทุนซื้อเครื่องจักรเครื่องมือ

จี้จัดระเบียบต่างด้าว 6 ล้านคน

ดร.พจน์กล่าวว่า ที่สำคัญต้องจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 5-6 ล้านคน ให้เป็นระบบ ทั้งต่างด้าวกลุ่มที่เข้าประเทศมีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมาย เอกสารยังไม่หมดอายุ กลุ่มที่เข้ามาถูกกฎหมายแต่ใบอนุญาตหมดอายุ กลุ่มผิดกฎหมาย ถ้าไม่จัดระเบียบ นอกจากแรงงานกลุ่มนี้ไม่สามารถกลับสู่ภาคอุตสาหกรรมได้แล้ว ยังอาจสร้างปัญหาด้วยการแพร่เชื้อโควิด-19 เหมือนที่เกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ขึ้น วันนี้จึงต้องจัดระเบียบแรงงานกลุ่มนี้ และต้องดูแลชายแดนให้ดี ป้องกันการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย

3 สถานะต่างด้าวในไทย

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานะแรงงานต่างด้าวในไทยมี 3 ประเภท 1) แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย 2.5 ล้านคน แบ่งเป็น แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายและอยู่ในระบบประกันสังคม 1.2 ล้านคน และแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายนอกระบบประกันสังคม 1.3 ล้านคน 2) แรงงานต่างด้าวอีกกลุ่มหนึ่งที่เคยอยู่ในประเทศถูกกฎหมาย แต่เอกสารหมดอายุ (บัตรขาด วีซ่าขาด ใบโยกย้ายนายจ้างไม่ทันใน 30 วัน) กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

ซึ่งปีที่ผ่านมา รัฐเคยผ่อนปรนให้มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องครั้งหนึ่ง สิ้นสุดเดือน พ.ย. 2563 และตามมติ ครม. วันที่ 29 ธ.ค. 2563 ให้มาขึ้นทะเบียนอีกครั้ง 14 ก.พ. 2564 กลุ่มนี้มีประมาณ 1 ล้านคนเศษ 3) กลุ่มที่รัฐผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมาขึ้นทะเบียนตามมติ ครม. 29 ธ.ค. 2563 แต่มาขึ้นทะเบียนแค่ 60,000 คน ถึงวันนี้มีประมาณ 1 ล้านคน ที่จะได้รับนิรโทษกรรม

ปูพรมฉีดวัคซีนต่างด้าว

“ตัวเลขแรงงานเหล่านี้ต้องคิดคำนวณกันใหม่ ต้องแยกเป็น 3 กอง คือ กองที่ถูกกฎหมาย 2.5 ล้านคน กองที่เอกสารขาด ซึ่งกระทรวงแรงงานต่อให้ถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2564 อีกกองหนึ่งถูกกฎหมาย แต่ลงทะเบียนไม่ทัน กระทรวงแรงงานต้องรีบเอากลับมาขึ้นทะเบียนให้ได้ สำหรับกองที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่ยังลอย ๆ อยู่ ครม.มีมติจะเอากลุ่มนี้ขึ้นมาลงทะเบียน และฉีดวัคซีนด้วย เพราะถ้าฉีดวัคซีนให้คนไทย รวมทั้งแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย แต่ไม่ฉีดให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดจะกลับมาอีก เพราะกลุ่มเถื่อนนี้ไม่รู้ว่ากระจายอยู่ในอุตสาหกรรมใดบ้าง”

อุตฯอาหาร-ก่อสร้างลดกำลังผลิต

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ก่อสร้าง บางแห่งต้องลดกำลังการผลิตลง หรือผลิตเท่าที่พอจะทำได้ตามจำนวนแรงงานที่เหลือ

ทั้งนี้ ภาคเอกชนเองมองว่าหากจะแก้ปัญหานี้เร่งด่วนในระยะสั้น อาจต้องเพิ่มค่าจ้างให้สูงกว่าเดิม เพื่อจูงใจแรงงานคนไทย เนื่องจากปัจจุบันพบว่ายังมีการว่างงานกับที่ตกงานจำนวนไม่น้อย

ขณะเดียวกันเสนอให้รัฐทำ MOU กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรับแรงงานต่างด้าวทั้งกัมพูชา เมียนมา ลาว เข้ามาแบบถูกกฎหมาย ด้วยการตรวจ swab test และใช้มาตรการตามขั้นตอนการกักตัว 14 วัน ตามกฎระเบียบใน state quarantine รวมถึงรัฐต้องการันตีความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 โดยนายจ้างเอกชนยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่าย จะช่วยสกัดแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ทะลักเข้าไทยได้

“ตอนนี้เราคุยกับหน่วยงานเอกชนกันเองว่า ต้องรวบรวมว่าความต้องการแรงงานต้องมีโควตาเท่าไหร่ถึงจะพอ ตอนนี้คร่าว ๆ เรายังขาดแคลนแรงงานที่ 1-2 แสนคน”

มหาชัยขาดแรงงาน 5 หมื่น

ขณะที่่นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมในสมุทรสาครต้องการแรงงานที่ยังขาดแคลนทั้งหมด 50,000 คน โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม และงานก่อสร้าง ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกด้วย บางโรงงานมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามา แต่ไม่กล้ารับออร์เดอร์เพราะขาดแคลนแรงงาน ทำให้สูญเสียรายได้จำนวนมาก

อย่างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ไม่มีแรงงานแกะกุ้ง ปัญหานี้เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดของโควิดระลอกแรกก่อนไทยปิดประเทศ เนื่องจากแรงงานต่างด้าวเกิดความกลัวจึงเดินทางกลับประเทศไปส่วนหนึ่ง และกลับเข้ามาไม่ได้

บวกกับโควิดระลอก 2 ระบาดในสมุทรสาคร ต่างด้าวบางส่วนเคลื่อนย้ายไปทำงานจังหวัดอื่น ถึงปัจจุบันยังไม่มีแรงงานใหม่เข้ามา เป็นช่องโหว่ให้มีการแอบลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทย เสี่ยงต่อการเข้ามาแพร่เชื้อโควิด

เปิดศึกชิงแรงงานเดือด

ด้านแหล่งข่าวจากจังหวัดชลบุรีเปิดเผยว่า การขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงขึ้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์ซื้อตัวแย่งชิงแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ภาคตะวันออก อย่างช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีเอเย่นต์ นายหน้าเข้ามากว้านหาตัวแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในตลาดสด และไซต์งานก่อสร้างในพื้นที่ชลบุรีจำนวนหลายร้อยคน

โดยเสนอค่าตอบแทนให้สูงมาก เพื่อดึงแรงงานไปทำงานในไซต์งานก่อสร้างขนาดใหญ่ และโรงงานอุตสาหกรรม เช่น งานตลาดสด จ่ายจ้าง 350 บาท/คน/วัน ก็จะค่าจ้างเพิ่มให้ถึง 600 บาท/คน/วัน แบ่งเป็น ค่าแรงปกติ 300-400 บาท และค่าล่วงเวลา (OT) อีก 100-200 บาท

“ตอนนี้วิกฤตมากเรื่องแรงงาน ถึงกับมีการเสนอเงินจูงใจ แย่งชิงตัวกัน แต่ธุรกิจในต่างจังหวัดบางครั้งสู้ราคาไม่ไหว ต้องยอมให้เขาช่วงชิงคนงานไป”

สั่ง 128 อำเภอชายแดนคุมเข้ม

ในส่วนของภาครัฐ แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้กรมการปกครองทำหนังสือเน้นย้ำการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงภายในเพื่อป้องกันควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย

โดยกำชับให้พื้นที่ชายแดน 128 อำเภอ ดำเนินการด้านการข่าวในเชิงรุก เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังในการตรวจตราและสอดส่องดูแลไม่ให้มีการลักลอบเข้าประเทศ และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติ และให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้นำพา ผู้ให้ที่พักพิง รวมทั้งให้ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด

สำหรับพื้นที่ตอนในนอกเหนือจากแนวชายแดน ให้นายอำเภอและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการโรงงาน สถานประกอบการ หอพัก เพื่อสร้างการรับรู้ และตรวจสอบไม่ให้รับแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเข้าทำงาน หรือเข้าพัก หากพบกระทำผิดจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืน