กระทรวงแรงงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนระบบขนส่งทางราง

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงาน เปิดเผยว่าจากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ดังนั้นการพัฒนากำลังแรงงานรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องได้รับการพัฒนา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการได้ยกร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงานรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางราง พ.ศ.2561-2565 ขึ้นมาให้คณะอนุกรรมการด้านการระบบขนส่งทางรางและการพัฒนาบุคลากรดังกล่าวได้พิจารณาและขอความเห็นชอบในการจัดทำยุทธศาสตร์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการศึกษา ภาครัฐและเอกชนรวม 19 หน่วยงาน ได้ร่วมกันประมาณการความต้องการบุคลากรในระยะ 5 ปี ประกอบด้วยวิศวกร 5,740 คน ช่างเทคนิค 11,480 คน และในสาขาอื่นๆ 14,087 คน รวม 31,307 คน กพร. จึงได้ตอบสนองนโยบายเร่งพัฒนาบุคลากรด้านระบบขนส่งทางราง ให้มีความรู้ทักษะ รองรับการขยายตัวของการลงทุนและการให้บริการระบบราง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการพัฒนากำลังคนและความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง เน้นการพัฒนาหลักสูตร การฝึกอบรม และจัดการเรียนการสอน และมีการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวิชาชีพในสาขางานปฏิบัติการ สาขางานซ่อมบำรุง และสาขางานความปลอดภัย

นายสุทธิกล่าวต่อไปว่า สำหรับการพัฒนากำลังแรงงานรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางราง มี 3 ด้าน ด้านแรก การพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน และจัดทำหลักสูตรเฉพาะด้าน เพื่อเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการความปลอดภัยของผู้โดยสาร อาทิ เสริมวิชาเฉพาะด้านระบบรางเข้าไปในหลักสูตรของสถาบันการศึกษา จัดทำหลักสูตรการพัฒนาความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการทำงาน ตั้งเป้าหมาย 10 สาขา 10 หลักสูตร โดยศึกษากลุ่มอาชีพและความต้องการของผู้ดำเนินการระบบรางในทุกประเภท พร้อมจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมโดยเน้นความรู้และทักษะฟื้นฐาน ด้านที่ 2 การผลิตและพัฒนาบุคลากรในตำแหน่งงานหลัก เพื่อรองรับการขยายตัวของระบบการขนส่งทางราง โดยมุ่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ระบบ และพัฒนาบุคลากรที่อยู่ในระบบให้มีความรู้ความสามารถและทักษะในระดับที่เหมาะสมต่อการทำงาน กพร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตั้งเป้าหมายใน 5 ปี ผลิตบุคลากรระดับวิศวกร ช่างเทคนิค และการปฏิบัติการและบำรุงรักษา จำนวน 4,800 คน พัฒนาความรู้และทักษะเฉพาะทางสำหรับบุคลากรที่ย้ายเข้ามาสู่การทำงานในระบบขนส่งทางราง จำนวน 6,600 คน รวม 11,400 คน มีการฝึกอบรมในหลักสูตรเทคนิคการซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า หลักสูตรเทคนิคการซ่อมบำรุงระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ หลักสูตรนายสถานี หลักสูตรพนักงานบริการลูกค้า เป็นต้น ด้านที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตและพัฒนากำลังคน โดยมุ่งเน้นจัดตั้งสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับระบบการขนส่งทางราง และระบบฐานข้อมูลการพัฒนากำลังคน

“ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ กพร.จะได้นำยุทธศาสตร์ดังกล่าวเสนอคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) เพื่อขอความเห็นชอบและเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนดำเนินการพัฒนากำลังแรงงานรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางต่อไป” อฺธิบดี กพร.กล่าว