“อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” New Business New Energy

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน “ธุรกิจ” ก็ต้องปรับแผนการดำเนินงานรับวิถี new normal ไม่เว้นแม้แต่ ปตท. ผู้นำในธุรกิจพลังงาน “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฉายภาพถึงแผนการปรับตัว พร้อมรุกธุรกิจใหม่ ด้วยวิสัยทัศน์ บริษัทพลังงานแห่งอนาคต

ลุยแผนลงทุน 5 ปี ไม่สะดุด

แม้ว่าในปีนี้ประเทศไทยยังเผชิญสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอก 3 แต่ยังไม่ส่งผลต่อแผนการลงทุนระหว่างปี 2564-2568 ที่วางไว้ 8.51 แสนล้านบาท ในส่วนของ ปตท. 1 แสนล้านบาท และโครงการอื่น ๆ ที่กระจายไปลงทุนในบริษัทในกลุ่ม ปตท. (ดูกราฟิก)

ตามที่ได้วางกลยุทธ์การดำเนินการมุ่งเน้น new business (ธุรกิจใหม่) และ new energy โดยตั้งเป้าปี 2573 จะเพิ่มสัดส่วนสร้างรายได้ธุรกิจนี้ในพอร์ตร้อยละ 20 ซึ่งจะครอบคลุมธุรกิจด้านยา อาหารเสริม อาหารสุขภาพ สุขอนามัย ไลฟ์สไตล์ และด้านพลังงานทดแทน

จ่อนำเข้า ยาเรมเดซิเวียร์

ซึ่งการเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานของ ปตท.นั้น มีทั้งธุรกิจใหม่ ๆ นอกเหนือจากเรื่องพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับไออาร์พีซี ตั้งบริษัท Innopolymed สร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขยายพอร์ตธุรกิจยา โดยมีบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ดำเนินการ ส่วนธุรกิจอาหาร ล่าสุดได้ร่วมทุนกับบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจพัฒนาและจำหน่าย เพื่อเจาะตลาดผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชแบบครบวงจร

“ข่าวดีล่าสุด ปลายเดือนมิถุนายนนี้ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งร่วมทุนกับ Lotus บริษัทยาแห่งไต้หวัน เตรียมนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง จำนวน 2 พันขวด เพื่อบริจาคให้รัฐบาลไทยและนำไปบริหารจัดการในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันนี้ประเทศไทยนำเข้ามาแล้ว 4 พันขวด ยังมีความจำเป็นต้องใช้อีกมาก”

ปักธงธุรกิจอีวีทั้งระบบปีนี้

นอกจากนี้ ปตท.ยังมุ่งสร้างการเติบโตในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต โดยไตรมาส 3 ปีนี้จะพัฒนาอีวีทั้งระบบ value chain ตามแผนธุรกิจ new S-curve สอดรับกับนโยบายอีวีของรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ได้จัดตั้งบริษัท ออน-ไอออนโซลูชั่นส์ จำกัด “On-I on Solutions” เพื่อผลิตยานยนต์อีวี สถานีเครื่องอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV charging station) ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน รวมถึงจำหน่ายสินค้าและให้บริการที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า

“ต้องดูแนวโน้มความต้องการของตลาด และการสนับสนุนของรัฐบาลก่อน หากมีมากพอก็อาจพัฒนาเป็นการผลิตรถยนต์ต่อไป เรายังตั้งเป้าจะมีทั้งรถ 2 ล้อ 4 ล้อ รถยนต์นั่ง รถบรรทุก ซึ่งกำลังหารือกับพาร์ตเนอร์ ส่วนการผลิตแบตเตอรี่ ขณะนี้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี อยู่ระหว่างการพัฒนาโรงงานไพลอตแพลนต์ ในอนาคตหากมีการผลิตรถยนต์อาจจะนำแบตเตอรี่นี้มาใช้”

ไม่ทิ้ง “ธุรกิจน้ำมัน”

ขณะที่ธุรกิจน้ำมันซึ่งเป็นธุรกิจหลักยังคาดว่าปีนี้จะเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เห็นได้จากไตรมาส 1/64 มีกำไร 3.2 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับทั้งปี 2563 ซึ่งมีกำไร 3.7 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยปีนี้ไว้ในกรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าการกลั่น (GRM) ปีนี้ไว้ที่ 2-2.5 เหรียญต่อบาร์เรล

จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน และปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น ดังนั้น ปีนี้กลุ่ม ปตท.มีแนวโน้มกลับมาเดินเครื่องผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา

ผลจากราคาปิโตรเลียมและปิโตรเคมีในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวหลังจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง (lockdown) รวมถึงการใช้วัคซีนป้องกัน COVID-19 เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ แต่ทั้งหมดไม่ใช่แค่สถานการณ์น้ำมันดีแล้วทำให้ผลประกอบการดี แต่ล้วนมาจากการบริหารจัดการระบบอย่างรอบคอบ ทันท่วงที พร้อมต่อทุกสถานการณ์

“ผลประกอบการของ ปตท.ที่ดีขึ้นในไตรมาสนี้ นอกจากสถานการณ์น้ำมันและปิโตรเคมีที่ดีขึ้นแล้ว ที่สำคัญ เนื่องจากกลุ่ม ปตท.สามารถบริหารจัดการการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะดำเนินการภายใต้สถานการณ์โควิด ไม่ใช่แค่สถานการณ์น้ำมันดีแล้วทำให้ผลประกอบการดี แต่ operation ทำได้อย่างดีเยี่ยม ไม่สะดุด แม้เจอโควิด”

“ส่วนความกังวลเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายนั้น ปตท.มีแผนรับมือเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้มาตรการเดียวกับช่วงที่มีการแพร่ระบาดที่จังหวัดระยอง อาทิ มาตรการล็อกอัพ (lock up) โดยจัดรถรับส่งและที่พักให้แก่พนักงาน และจะขยายเวลาเวิร์กฟรอมโฮมจากเดิมที่จะสิ้นสุดเดือนพฤษภาคมนี้ไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น”