“วัคซีน” ขาดป่วนโลก

วัคซีน

ในช่วง 2-3 เดือนมานี้ เวทีประชุมระดับโลกได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาการเข้าถึงวัคซีนเพื่อแก้วิกฤตโรคโควิด-19 มากขึ้น จากเดิมที่ปัญหาด้านสาธารณสุขจะถูกพูดถึงเฉพาะในเวทีองค์การอนามัยโลก (WHO)

แต่ล่าสุดปัญหานี้ถูกพูดถึงในเวทีการประชุมระดับผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และกำลังจะถูกยกไปหารือในการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) ครั้งที่ 12 หรือ MC 12 ปลายปีนี้

ประเด็นสำคัญเกิดจากที่ทั่วโลกมองว่าระบบทรัพย์สินทางปัญญา (IP) กลายเป็นต้นเหตุทำให้บริษัทผู้ผลิตผูกขาดและตั้งราคายาสูงเกินจริง และเป็นอุปสรรคให้ผู้บริโภคเข้าไม่ถึงยา

ดังนั้น ประเทศอินเดียและแอฟริกาใต้จึงเป็นแกนนำยื่นข้อเรียกร้องสมาชิก WTO “ยกเว้นการบังคับใช้ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์การการค้าโลก” หรือ TRIPs Waiver ชั่วคราวเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ สามารถผลิตยาสามัญ ชุดตรวจ รวมถึงวัคซีนได้มากขึ้น เกิดการแข่งขันทำให้ราคายาถูกลง ประเด็นนี้ “สหรัฐและจีน” ปรับท่าทีร่วมหนุน TRIPs Waiver เฉพาะ “วัคซีน” ไม่รวมชุดตรวจและยา

3 มหาอำนาจตุนวัคซีน

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่อง TRIPs Waiver เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ปัจจุบันปริมาณวัคซีนที่ผลิตได้ในตลาดโลกจะถูกจำหน่ายไปกระจุกอยู่ใน 3 ประเทศ คือ สหรัฐ สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร (ยูเค)

ยกตัวอย่างเช่น วัคซีน Pfizer ผลิตได้ 1.3 พันล้านโดส อยู่กับ 3 ประเทศนี้ถึง 230 ล้านโดส โมเดอร์นา ผลิตได้ 0.95 พันล้านโดส อยู่กับ 3 ประเทศนี้ถึง 104.5 ล้านโดส ส่วนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ผลิตได้ 1.1 พันล้านโดส อยู่กับ 3 ประเทศนี้ 330 ล้านโดส

“แม้แต่ COVAX ซึ่งเป็นโครงการจัดหาวัคซีนของประเทศกำลังพัฒนา ยังสามารถจัดหาได้เพียง 150 ล้านโดส จากความต้องการใช้ที่มี 190 ล้านโดส เพราะประเทศใหญ่กักตุนวัคซีนไว้มากถึง 2 เท่าของจำนวนประชากร ดังนั้น TRIPs Waiver จะช่วยกระจายให้ประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตได้เร็วขึ้น”

TRIPs Waiver ลดราคายา

เหตุผลสำคัญที่ขอ TRIPs Waiver เพราะระบบทรัพย์สินทางปัญญาเป็นข้อจำกัดทำให้ราคายามะเร็งตับ และยารักษาเอดส์ ซึ่งรวมถึงยาฟาวิพิราเวียร์ เช่น ยารักษามะเร็งตับ 1 เม็ด ราคา 30,000 บาท ผู้ป่วย 1 คน ต้องใช้ยานี้ถึง 84 เม็ด เสียค่ายา 2.5 ล้านบาท

“มาเลเซีย” จึงประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร หรือ CL เพื่อผลิตยาดังกล่าวเอง แต่ทางบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรยามะเร็งดังกล่าวคัดค้านและขอให้ใช้ระบบที่เรียกว่า voluntary licence คือ ระบบที่บริษัทเจ้าของทรัพย์สินทางปัญหาอนุญาตให้สิทธิบางประเทศผลิตยานั้นโดยสมัครใจแทนการใช้ CL มีผลให้ราคายาลดลงจาก 30,000 เหลือแค่ 200 บาท ต้นทุนการรักษาทั้งคอร์สจากหลัก 2.5 ล้านบาท เหลือแค่ไม่กี่หมื่นบาท

“การใช้ระบบ voluntary licence เป็นหนึ่งในแนวทางแคนาดาและนิวซีแลนด์เสนอใน WTO แทนระบบ TRIPs Waiver หากเทียบกันแล้วระบบนี้ไม่มีความชัดเจนเท่ากับ TRIPs Waiver แต่ผู้ที่เรียกร้องก็อ้างว่าการยกเว้นทริปส์นี้จะทำให้ผลิตยาที่ไม่มีคุณภาพ และเป็นการสกัดไม่ให้มีการลงทุนนวัตกรรมใหม่”

หนุนไทยยกเครื่องอุตฯยา

รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษมสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ไทยควรอาศัยโอกาสในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกเร็ว ๆ นี้แสดงจุดยืนในการเป็นผู้นำอาเซียนสนับสนุน TRIPs Waiver เพื่อให้ประเทศที่มีศักยภาพผลิต เพราะหาก TRIPs Waiver แล้ว แต่ไม่มีประเทศใดที่มีเทคโนโลยีการผลิตก็ไม่มีประโยชน์

“แม้ว่าจะใช้ TRIPs Waiver แต่ในส่วนของไทยเองยังต้องพึ่งพาการนำเข้า เพราะไทยเพิ่งจะเริ่มต้นอุตสาหกรรมชีววัตถุซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการผลิตยา”

ดังนั้น ข้อเสนอแนะสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยา คือ ไทยควรใช้โมเดลเดียวกับเกาหลีใต้ ที่รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้จนเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนของสยามไบโอไซเอนซ์ 500 ล้านบาทไปเป็นตัวอย่าง แต่ก็ควรกระจายการสนับสนุนนี้ไปยังผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ด้วย


อีกทั้งไทยไม่ควรร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สนับสนุนระบบการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้าและเข้าถึงยา