4 เดือนแรกยอดค้าชายแดน-ผ่านแดน โต 26.4% เร่งเปิดด่านเพิ่มอีก 9 ด่าน

ค้าชายแดน
แฟ้มภาพ

“จุรินทร์” เผยตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านแดน 4 เดือนปี 2564 ทำเงินเข้าประเทศ 526,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 26.24% จากการแก้ไขปัญหา อุปสรรค และเร่งรัดเปิดด่าน เตรียมลุยต่อ เร่งรัดเปิดอีก 9 ด่านเป้าหมาย ขณะที่เป้าการค้าชายแดนและผ่านแดนปีนี้ 1.4 ล้านล้านบาท โต 3-6%

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านแดน ในช่วง 4 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.) สามารถทำเงินเข้าประเทศได้มูลค่า 526,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.24% แยกเป็นการค้าชายแดน มูลค่า 295,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.78% โดยมาเลเซีย เพิ่ม 52.87% สปป.ลาว เพิ่ม 13.49% เมียนมา เพิ่ม 0.002% และกัมพูชา ลด 4.5% และการค้าผ่านแดน มูลค่า 230,839 ล้านบาท เพิ่ม 41.93% โดยจีน เพิ่ม 54.25% สิงค์โปร์ เพิ่ม 34.57% และเวียดนาม เพิ่ม 22.47%

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

สำหรับสินค้าสำคัญที่ส่งออกไปมาเลเซีย เช่น ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สปป.ลาว เช่น ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป น้ำมันดีเซล และรถยนต์นั่ง กัมพูชา เช่น เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เมียนมา เช่น เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำมันดีเซล เครื่องเทศและสมุนไพร ส่วนสินค้าส่งไปจีน เช่น ผลไม้ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ สิงคโปร์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า เวียดนาม เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สินค้าปศุสัตว์

ทั้งนี้ การค้าชายแดนและผ่านแดนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลของการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและทำงานอย่างหนักระหว่างกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ในรูปของ กรอ.พาณิชย์ ทั้งการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ติดขัด การแก้ไขปัญหาด้านการขนส่ง การเร่งรัดเปิดด่าน ทำให้เราสามารถผลักดันการค้าชายแดน การค้าผ่านแดน จนทำตัวเลขการส่งออกในภาพรวมเป็นบวกในช่วงวิกฤตโควิด-19 เพราะการค้าชายแดน การค้าผ่านแดน ก็เป็นส่วนหนึ่งในตัวเลขส่งออกรวมของประเทศ

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์จะเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีด่านทั้งสิ้น 97 ด่าน ปิดอยู่ 51 ด่าน เปิดเพียง 46 ด่าน ซึ่งในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะผลักดันให้มีการเปิดด่านที่คิดว่าจำเป็นสำหรับการส่งออกสินค้า มีเป้าหมายที่ตั้งไว้ 9 ด่าน ได้แก่ 1.ด่านแม่สาย จ.เชียงราย 2.ด่านบ้านแจมป๋อง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย 3.เชียงคาน จ.เลย 4.ด่านบ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย 5.ด่านท่าเรือหนองคาย 6.ด่านท่าเทียบเรือนครพนม 7.ด่านท่าเทียบเรือมุกดาหาร 8.ด่านบ้านปากแซง อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี และ 9.ด่านบ้านท่าเส้น อ.เมือง จ.ตราด

ส่วนปัญหามาเลเซียล็อกดาวน์ มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยบ้าง เช่น ปัญหาเรื่องพริกเขียว ที่ส่งออกไปไม่ได้ แต่กระทรวงพาณิชย์ได้เข้าไปช่วยเหลือแล้ว แต่ในภาพรวมการค้าชายแดนยังทำได้ดี และเมียนมา ที่ปัจจุบันมีปัญหาทางการเมืองในประเทศ การค้าชายแดน ที่เคยกระทบในช่วงแรก แต่ปัจจุบันได้กลับมาทรงตัว ส่วนปัญหาเรื่องการห้ามนำเข้าเครื่องดื่ม ไทยยังส่งออกได้ตามเงื่อนไขที่เมียนมากำหนด คือ ทางเรือ

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้หารือร่วมกับภาคเอกชน และประเมินว่าการค้าชายแดนและผ่านแดนในปี 2564 จะทำได้มูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3-6% และแค่ 4 เดือน ก็ขยายตัวสูงถึง 26.24% ถือว่าเกินเป้าไปมาก โดยยังไม่มีการปรับเป้า แต่จะทำตัวเลขให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งจะเร่งรัดการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้าชายแดนที่มีอยู่ และเร่งรัดการเปิดด่านเป้าหมาย ซึ่งได้มีการประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดที่มีด่านตั้งอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีด่านที่เปิดแล้วทั้งสิ้น 46 ด่าน จากทั้งหมด 97 ด่าน แยกเป็น เมียนมา 11 ด่าน จาก 21 ด่าน สปป.ลาว 14 ด่าน จาก 49 ด่าน กัมพูชา 12 ด่าน จาก 158 ด่าน และมาเลเซีย 9 ด่าน เปิดทั้งหมด โดยในส่วนของมาเลเซีย ที่มีการล็อกดาวน์ แต่ไม่มีการปิดด่าน การค้าชายแดนยังคงทำได้ปกติ และหากในระยะต่อไป สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย กรม จะเดินหน้าผลักดันให้มีการเปิดด่านทั้งหมดต่อไป

อย่างไรก็ดี สำหรับการผลักดันการค้าชายแดน กรม เน้นการทำงานเชิงรุกโดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าชายแดนเพื่อกระตุ้นความต้องการสินค้าไทย ในรูปแบบ Hybrid ระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ตามวิถี New Normal โดยครอบคลุม (1) การจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบ Virtual Trade Show (2) การเจรจาจับคู่ธุรกิจในรูปแบบ OBM (หรือ Online Business Matching) ที่เน้นขายสินค้าตรงกับความต้องการของตลาด (Demand – Driven) และ (3) การจัดประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อเป็นเวทีเปิดรับฟังปัญหา/ข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วน สำหรับกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา/อุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ โดยเชื่อว่าการค้าชายแดนจะขยายตัวไปได้ดี