กนอ.เคลียร์บ้านรับลงทุน รื้อสิทธิประโยชน์-ปรับค่าเช่า

นายวีริศ อัมระปาล
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

ในช่วงที่ทุกอย่างกำลังช็อกกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และชะลอการลงทุน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เปลี่ยนผ่านผู้บริหารงานใหม่ โดย “นายวีริศ อัมระปาล” ที่ปรึกษา “นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก้าวเข้ามารับไม้ต่อผู้ว่าการ กนอ. แทนคนใน กนอ. สร้างความแปลกใจให้กับคนในวงการอย่างมาก

แต่ด้วยศักยภาพของการเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ วิสัยทัศน์ของคนหนุ่ม ที่มีดีกรีเป็นถึงรองศาสตราจารย์ ดร. ที่จบการศึกษาคณะวิศวกรรม ด้านอุตสาหกรรม นับว่าตรงกับงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมอย่างมาก ดังนั้นแล้วถึงเวลาและโอกาสของประเทศไทยที่จะรื้อสิทธิประโยชน์ ปรับค่าเช่าในนิคมอุตสาหกรรมชายแดน เพื่อดึงการลงทุนนับจากนี้

ลดเป้าหมายยอดขาย/เช่าพื้นที่

นายวีริศ กล่าวว่า วันนี้ได้เข้ามาดูแลช่วยงาน กนอ.ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งตรงกับที่เรียนมา สำหรับตอนนี้เข้ามาทำงาน 1 เดือนกับอีก 10 กว่าวัน ในทุก ๆ วันผมจะไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเพราะผมนั่งวิเคราะห์มองภาพรวมทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทยเองถึงปัญหาที่เกิด เพื่อพยายามหาทางแก้ปลดล็อกโดยเร็วที่สุด

จะเห็นได้ว่าขณะนี้สถานการณ์โลกค่อนข้างดีขึ้น GDP โลกโต 6% โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา จีน UK และ EU ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าระบบ รวมถึงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ทำให้การจ้างงานภาคบริการดีขึ้น ในขณะเดียวกันหลาย ๆ ประเทศยังคงพิจารณาการลงทุนแต่จะค่อย ๆ ระวัง

ส่วนไทยเองปัญหาคือข้อจำกัดเรื่องของการฉีดวัคซีนโควิด-19 และมันยังคงเป็นช่วงฝุ่นตลบ แต่จะเข้าสู่ปกติอีกไม่นาน เพราะเมื่อทุกคนมีภูมิคุ้มกันหมู่ โอกาสที่จะดึงการลงทุนเข้ามาก็ไม่ยาก เราจะเห็นได้จากดัชนีภาคอุตสาหกรรม (MPI) โต 4.2% เห็นการผงกหัว บวกกับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่อย่าง WHA ที่ประเมินว่าช่วงครึ่งปีหลังหลายอุตสาหกรรมจะฟื้นตัว ทั้งโลจิสติกส์ ปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า ยานยนต์ ที่พบสัญญาณว่ามีการใช้ไฟใช้น้ำเพิ่มขึ้น

สะท้อนด้วยมูลค่าการลงทุนที่ได้จองเช่าและซื้อที่ดินไว้ก่อนหน้า โดยช่วง 7 เดือน (ต.ค. 63-เม.ย. 64) มีเงินลงทุนสูงถึง 113,393.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 153.36% แบ่งเป็นการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 102,176.52 ล้านบาท และนอก EEC อีก 11,217.52 ล้านบาท เกิดการจ้างงานรวม 8,783 คน ขณะที่ยอดขาย/เช่าพื้นที่ 773.20 ไร่ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขายได้ 1,620 ไร่ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนไม่สามารถเดินทางเข้ามาดูพื้นที่ได้

ดังนั้นในปี 2564 กนอ.จึงได้ปรับเป้าประมาณการขาย/เช่าที่ดินของปีนี้ลงจากเดิมที่ตั้งไว้ที่ 1,500 ไร่ เหลือ 1,200 ไร่ แต่ยังคงมีพื้นที่เหลือขาย/เช่าอยู่ทั้งหมด 27,762 ไร่ เป็น EEC ประมาณ 19,000 ไร่

เคลียร์บ้านก่อนโรดโชว์

เราอยู่ในช่วงที่กำลังจะโตและดีขึ้น นโยบายเร่งด่วนคือเราต้องวางแผนอย่างไรที่จะดึงการลงทุนกลับมา ต่างชาติเขาก็กำลังจะเข้าสู่ภาวะปกติ ผมจึงเริ่มที่จะทำแผนการตลาดออนไลน์ไปก่อน ก่อนที่เราจะมีการโรดโชว์เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ โดยจะไปที่จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน

“ตอนนี้ กนอ.ต้องเคลียร์ของในบ้าน ดูแพ็กเกจที่จะชนะคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม มาเลเซีย หรืออินโดนีเชีย เพราะเขาก็แข่งขันกันมากขึ้น เช่น เราเห็นผู้ประกอบการไทยย้ายไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เราก็จะมาดูว่าอาจเพราะค่าแรงเราที่แพงกว่า เราจึงต้องปรับจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไปเป็นอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดูสิทธิประโยชน์ว่าจะปรับอย่างไรได้บ้าง ของเดิมเป็นอย่างไร ปรับใหม่ยังไง ช่วงนี้เราอาจต้องดึงนักลงทุนถึงเวลาที่ต้องปรับสิทธิประโยชน์อีกครั้ง”

ผมได้หารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หารือกับสถานเอกอัครราชทูต หน่วยงานต่างประเทศ รวมถึงล่าสุดที่ได้หารือกับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ประเทศญี่ปุ่น และก็พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นสนใจที่จะลงทุนพลังงานบริสุทธิ์ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค EEC

เราจะยังคงยึดเอากลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 11 กลุ่มไว้ แต่ก็ทำการศึกษากลุ่มเป้าหมายใหม่อย่างกลุ่มที่ใช้นวัตกรรมใหม่ กลุ่มที่ใช้แรงงานน้อย โรงงานไหนมีแรงงานทักษะดีกว่าอาจเสนอให้ลดภาษีเพิ่ม จากที่เขาได้ 1 ปีอยู่เดิม และจะเอาสิทธิประโยชน์ไปผูกกับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ผูกกับเรื่องสิ่งแวดล้อม

เช่น รายใดเข้ามาลงทุนเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม จะกำหนดว่าต้องเป็น ECO ถึงจะได้สิทธิประโยชน์เต็มไปเลย เพื่อที่เขาจะได้วางแผนด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ผมส่งทีมให้ไปดูพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ว่าค่าเช่าที่ดินสูงไปหรือไม่ ทั้งที่สระแก้วและตาก ซึ่งเราก็จะขอไปหารือกรมธนารักษ์ ที่อาจต้องทำโปรโมชั่นเรื่องค่าเช่าลง

ตั้ง “บริษัทลูก” เพิ่มรายได้

แนวทางในอนาคต กนอ.จะหาการลงทุนใหม่ ๆ เช่น ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อไปจับมือร่วมทุนกับหน่วยงานอื่น เพื่อใช้โอกาสนี้ขยายงานที่เกี่ยวข้องกับโปรเจ็กต์ของเราเอง ต่อยอดการทำธุรกิจ อย่างที่เราจะไป 5G การแทร็กข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูลกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งพาณิชย์ ศุลกากร

ภายใต้กฎหมายของ กนอ.เองก็เปิดให้เราตั้งบริษัทลูกได้ เพื่อออกไปลงทุนต่างประเทศ เราก็จะมาดูว่าขั้นตอนของเราเองทำได้หรือไม่ หรือในขั้นแรกที่ตอนนี้อยู่ระหว่างการเร่งศึกษาจะเป็นลักษณะของการร่วมลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ สร้างรายได้กำไรระยะยาวให้กับ กนอ. จากเดิมที่มีรายได้เพียงค่าเช่าค่าต๋ง เก็บค่าบำรุงระบบสาธารณูปโภค น้ำไฟที่ตอนนี้รายได้ลดลงมาตลอด

ระหว่างนี้จึงได้เตรียมที่จะตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญพิเศษเข้ามาดำเนินการ โดยจะดูเป็นรายโปรเจ็กต์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการจัดตั้งทีมประมาณ 6 เดือน-1 ปี น่าจะได้เห็นเป็นรูปธรรมได้ โดยที่ทุกการดำเนินการต้องอยู่ในกรอบที่รับได้และไม่เกิดข้อผิดพลาดเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เคยได้ดำเนินการมาในอดีตที่ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาก่อนทั้งที่ยังไม่มีโปรเจ็กต์งาน ทำให้สุดท้ายแล้วบริษัทลูกก็ต้องขาดทุน

เช่น เรามีโปรเจ็กต์ที่ต้องดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ทั้งแล้งน้ำขาดแคลนในพื้นที่ EEC ทั้งชลบุรี ระยอง และมาบตาพุด เราไม่ต้องการให้เขาลดการใช้น้ำลง 10% ที่ขอความร่วมมือทำมาแบบทุกปี เพราะผู้ประกอบการเขามีออร์เดอร์ผลิตเข้าตลอด เมื่อวันนึงเขาถูกให้ลดการใช้น้ำ มันไปกระทบออร์เดอร์เขา

เสริมความพร้อม “น้ำ”

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการใหม่เมื่อเขามองเรื่องความพร้อมของน้ำตรงนี้ ถ้าเราน้ำไฟไม่พอมันจะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ไม่มั่นใจ เหมือนเวียดนามในอดีตที่ไม่ค่อยเป็นที่สนใจเพราะปัญหาน้ำไฟไม่พร้อม แต่ตอนนี้เขาแก้ได้แล้ว ดังนั้นไทยเองก็ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้ มันจึงจะเป็นอีกแผนหนึ่งที่ผมอาจจะต้องเข้าไปร่วมลงทุน หาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มอีก 1 แสนลูกบาศก์เมตร/วัน

ล่าสุดได้หารือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาหาเทคโนโลยีการผันน้ำทะเลเป็นน้ำจืด โดยมีงบฯจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้ามาช่วยสนับสนุนซึ่งจะได้ราคาน้ำที่เหมาะสม และมีต้นทุนค่าน้ำที่ภาคอุตสาหกรรมรับได้

“ผมถูกสอนมาว่า อย่าเสียเวลากับอะไรที่ไม่จำเป็น อย่างการประชุมบางเรื่องสามารถส่งให้ผู้บริหารท่านอื่นช่วยได้ผมก็จะให้เข้ามาช่วย ส่วนตัวผมก็จะมุ่งไปเรื่องงานหลักที่สำคัญ ขอเวลาครึ่งปีถึง 1 ปี จะทำเป็นรูปธรรมให้ได้”

“ผมตั้งเป้าดำเนินการใหญ่ ๆ และงานเร่งด่วนคือ เรื่องวัคซีนโควิด-19 การปรับสิทธิประโยชน์เพื่อดึงการลงทุน การตั้งบริษัทลูกซึ่งรวมถึงการร่วมลงทุนในธุรกิจที่จะเป็นประโยชน์กับ กนอ. การบริหารจัดการเรื่องน้ำขาดแคลน เป็นต้น ซึ่งนี่จะเป็นแนวทางที่จะทำ ขอใช้เวลาอีกนิด ขอให้มั่นใจว่าจะไม่ช้าและงานจะก้าวหน้าทุกวัน”