ส.อ.ท.ผนึก SCG หนุน “เมดอินไทยแลนด์”

SCG+MIT

ส.อ.ท.ดึงกลุ่มปูนซีเมนต์ “SCG” นำทัพเอกชนหนุนรายย่อยผลิตสินค้าเมดอินไทยแลนด์ ร่วมขบวนงานก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ ปี’64-65 กว่า 4 แสนล้าน หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระจายสู่ฐานราก ประเดิมกลุ่มผู้ผลิตชิ้นงานคอนกรีต สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตไทยนำร่อง 300 ราย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าในวันที่ 8 มิถุนายน 2564 นี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะเป็นประธานในการขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตามนโยบาย Made in Thailand (MIT) เข้าร่วมโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในโครงการก่อสร้างภาครัฐ

ตามที่กรมบัญชีกลางกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่จะใช้ และในส่วนงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน โดยต้องไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่า ที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดมีผลตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธาน ส.อ.ท. งานมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทาง ส.อ.ท.กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้ประสานกับผู้ประกอบการกลุ่มปูนซีเมนต์รายใหญ่ในเครือ SCG และสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตไทย ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกผู้ผลิตชิ้นงานคอนกรีตที่สมาชิก 300 ราย เข้าร่วมการรับรองตามนโยบาย Made in Thailand (MIT)

ในการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยเข้าร่วมโครงการนี้จะมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยงานครั้งนี้จะเป็นการนำร่องในกลุ่มผู้ประกอบการในสินค้าเกี่ยวกับชิ้นงานคอนกรีต ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญในการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ของภาครัฐ

“ส.อ.ท.มองว่า การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นงานคอนกรีตสามารถเข้าร่วมโครงการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งการก่อสร้างรถไฟของ รฟม. มูลค่าการลงทุน 82,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ที่มีแผนจะดำเนินการภายในปี 2564-2565 อีก 5-6 โครงการ มีมูลค่าการลงทุน 3-4 แสนล้านบาท จะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ธุรกิจรากหญ้าต่าง ๆ”

ทั้งนี้ โครงการ MIT ส.อ.ท.ร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) นำเครือข่ายเอสเอ็มอี ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม 100,000 ราย มาขึ้นทะเบียน MIT รวมถึงสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นำสมาชิกเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย ซึ่งโครงการ MIT ได้กำหนดให้ต้องมีวัตถุดิบอุปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศไม่ต่ำกว่า 40% จึงช่วยสร้างรายได้ลงไปให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยได้อีกเป็นจำนวนมาก

“ตามเป้าหมายการดำเนินนโยบาย Made in Thailand (MIT) นั้น นายสุพันธุ์ มงคลสุธี วางเป้าว่าจะมีผู้ผลิตสินค้ามายื่นขอรับการรับรองเป็นสินค้า Made in Thailand ได้จาก ส.อ.ท. ก่อนจะเข้ายื่นประมูลงานรัฐไม่ต่ำกว่า 100,000 รายการสินค้าในปี 2564”

สำหรับผู้สมัครมีค่าใช้จ่าย 250 บาท/ใบรับรอง ซึ่งมีอายุ 1 ปี โดยสินค้าที่จะร่วมโครงการต้องมีคุณภาพ ผลิตถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ยกเว้นสินค้าบางประเภทที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่รับรองมาตรฐานเฉพาะก่อน เช่น ผลิตภัณฑ์ชุมชนเครื่องสำอาง ต้องผ่านการรับรองของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน

รายงานข่าวระบุว่า ในเดือน มิ.ย.นี้ ส.อ.ท.มีแผนจะเข้าหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น คมนาคม คลัง เพื่อกำหนดเป้าหมายสินค้าที่รัฐต้องการให้ชัดเจนและจัดหาเอกชนให้สอดรับกับความต้องการ

ทั้งนี้ เพื่อขยายตลาดให้กับสินค้า MIT ส.อ.ท.จะผลักดันไปสู่รูปแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ได้แก่ 1.ผลักดันสมาชิก ส.อ.ท.ทั้งหมด 12,000 ราย ให้สนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยจะมอบสิทธิประโยชน์ให้สมาชิกในการรับบริการจาก ส.อ.ท.เพิ่มเติม เช่น ลดหย่อนค่าบำรุงสมาชิก หรือบริการอื่น ๆ

2.แผนผลักดันสิทธิพิเศษสำหรับผู้ประกอบการที่สนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศในด้านการเงินให้แก่ผู้ประกอบการโดยร่วมกับสถาบันการเงินให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมพิเศษ ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือกับสถาบันการเงินบางแห่งไปแล้ว


และ 3.ในระยะยาว ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสิทธิพิเศษด้านภาษี ซึ่งจะหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง