บูมสมุนไพรไทย เทรนด์เฮลตี้ดันตลาดโตปีละ 10%

สมุนไพรไทย

กระแสเฮลตี้ดันสมุนไพรไทยโตปีละ10% “เฉลิมชัย” รมว.เกษตรฯ สั่งทุกกรมส่งข้อมูลให้ สศก. ภายใน 15 มิ.ย. หวังรุกตลาดอาหารเสริม-ยา-เวชสำอาง ทั้งในและต่างประเทศ

วันที่ 5 มิถุนายน 2564 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และมุ่งเน้นใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสมุนไพรไทยเติบโตทุกปี ถึงปีละ 10%

หากดูข้อมูลจากปี 2560 มีการบริโภคสมุนไพร มูลค่า 43,100 ล้านบาท แบ่งเป็นการนำเข้า 11,200 ล้านบาท มีการส่งออก 2,200 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 มีมูลค่า 47,600 ล้านบาท แบ่งเป็นการนำเข้า 11,500 ล้านบาท มีการส่งออก 2,240 ล้านบาท และปี 2562 มีมูลค่า 52,100 ล้านบาท แบ่งเป็นการนำเข้า 12,400 ล้านบาท มีการส่งออก 2,190 ล้านบาท

ดังนั้น เนื่องจากสามารถนําไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ในการประกอบอาหาร เป็นยารักษาโรค อาหารเสริมดูแลสุขภาพ และเป็นผลิตภัณฑ์เวชสําอาง ปัจจุบันความต้องการใช้สมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นโอกาสพืชสมุนไพรว่าสามารถเติบโตได้ทั้งตลาดทั้งในและต่างประเทศ จึงสั่งการให้ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (มกอช.) และ อ.ต.ก. ส่งข้อมูลการผลิต พื้นที่เพาะปลูก และตลาด ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ภายในวันที่ 15 มิ.ย. 2564 เพื่อวางแผนต่อไป

“พฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาสนใจและรักสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดสมุนไพรเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละมากกว่า 10% รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรจึงสั่งให้หน่วยงานส่งเสริมการปลูกสมุนไพร เช่น ขิง กระชายขาว กัญชง ขมิ้นชัน เพื่อรองรับคามต้องการที่สูงขึ้น โดยกำชับให้ขจัดปัญหาตั้งแต่การผลิต แปรรูปไปถึงการวิจัย เร่งสร้างความสมดุล เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ให้เกิดความยั่งยืน”

สำหรับ การขับเคลื่อนนโยบายสมุนไพรของรัฐบาลปัจจุบัน ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรปี 2560-2564 และ คณะกรรมการสมุนไพรแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นว่าพืชสมุนไพรมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก เนื่องจากสามารถนําไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เกษตรกรรายได้และความมั่นคงในการดํารงชีพ จึงให้ความสําคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาพืชสมุนไพรไทยรวมถึงพืชทางเลือกอื่น ๆ