ปฏิบัติการลดเรือประมงโชว์อียู ขีดเส้น43วันควบรวมใบอนุญาต-แลกเรือ

ลุ้น – ในเร็ว ๆ นี้คณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป (EU) จะเดินทางเข้ามาตรวจสอบความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของไทยอีกครั้ง เพื่อพิจารณาปรับสถานะจากที่ให้ “ใบเหลือง” มา 3 ปีแล้ว

กรมประมงเริ่มปฏิบัติการลดจำนวนเรือประมงโชว์อียู เปิดให้มายื่นคำขอควบรวมใบอนุญาตทำการประมง-แลกเปลี่ยนเรือได้ภายใน 2 พ.ย.-15 ธ.ค. 60

นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการที่กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า และกรมประมง ตรวจวัดขนาดเรือประมงพาณิชย์ใหม่ทั้งหมดจำนวน 10,570 ลำ ส่งผลให้เรือประมงมีขนาดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ต้องลดวันทำการประมงลง เพื่อให้ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ไม่เกินปริมาณที่อนุญาตให้ทำการประมงได้ ส่งผลให้เรือบางลำมีวันทำการประมงเหลือเพียง 142 วันต่อปี ทำให้ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน กรมจึงเสนอให้มีการควบรวมใบอนุญาต โดยเปิดโอกาสให้นำเรือประมงที่มีใบอนุญาตทำการประมงนำมาควบรวมใบอนุญาตทำการประมงกับเรือประมงพาณิชย์ที่ไม่ประสงค์จะทำประมงอีก จะทำให้วันทำการประมงมีจำนวนเพิ่มขึ้น

แต่มีเงื่อนไข คือ 1.การควบรวมใบอนุญาตทำการประมงระหว่างเรือที่มีใบอนุญาตทำประมงเท่านั้น 2.เครื่องมือที่ควบรวมได้ ต้องเป็นเครื่องมือในกลุ่มสัตว์น้ำเดียวกัน เช่น สัตว์น้ำหน้าดิน ปลาผิวน้ำ และปลากะตัก ยกเว้นอวนลากควบรวมกับอวนล้อมและอวนล้อมจับปลากะตักได้ ซึ่งกรณีการควบรวมข้ามกลุ่มต้องมีการนำปริมาณสัตว์น้ำมาคำนวณ 3.กรมจะคำนวณวันทำการประมงใหม่ตามปริมาณสัตว์น้ำที่ควบรวมได้ 4.เรือหลักสามารถนำสัตว์น้ำจากเรือเป้าหมายหลายลำมาควบรวมได้ หรือเรือหลักหลายลำสามารถนำสัตว์น้ำจากเรือเป้าหมายลำเดียวมาแบ่งกันได้ 5. ควบรวมกันได้เฉพาะเครื่องมือที่ทำการประมงฝั่งเดียวกัน (ฝั่งอันดามันหรือฝั่งอ่าวไทย) เท่านั้น 6.เมื่อควบรวมแล้วสามารถสลับนำเรือเป้าหมายมาทำการประมงได้ โดยเรือที่ไม่ใช้งานต้องนำไปทำลาย หรือทำปะการังเทียม หรือขายต่อไปต่างประเทศ หรือเปลี่ยนประเภทการใช้เรือ

โดยเจ้าของเรือจะได้รับใบอนุญาตทำการประมงฉบับใหม่ปี 2560 ที่เหลืออยู่ได้ พร้อมหนังสือรับรองปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือภายใน 7 วันทำการ หรือยื่นคำขอควบรวมใบอนุญาตทำการประมง ทั้งนี้ชาวประมงสามารถมายื่นคำขอตรวจสอบที่สำนักงานประมงอำเภอหรือจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเลได้ ภายในวันที่ 2 พ.ย.-15 ธ.ค. 2560 นี้

นอกจากนี้ กรณีชาวประมงได้รับความเดือดร้อนจากเรือที่มีสภาพทรุดโทรม การต่อเรือประมงใหม่มีข้อห้ามทางกฎหมาย กรมประมงจึงเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนเรือประมงได้ โดยนำเรือประมงที่มีทะเบียนเรือและมีการแจ้งงดใช้ทำการประมงอยู่นำมาแลกกับเรือที่ทำประมงในปัจจุบัน โดยต้องนำเรือเก่าไปทำลายออกจากระบบ โดยการแลกเปลี่ยนเรือจะมีผลสมบูรณ์ในการขอรับใบอนุญาตทำการประมงรอบใหม่ (2561-2562) เดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยแนวทางการแลกเปลี่ยนเรือ คือ 1.การแลกเปลี่ยนได้เฉพาะเรือประมงที่มีใบอนุญาตทำการประมงกับเรือที่มีทะเบียนเรือ ถูกตรึงหรือล็อกพังงา และเรือทำอัตลักษณ์เรือแล้วเท่านั้น

2. เครื่องมือทำการประมงจะต้องเป็นเครื่องมือเดิมของเรือที่ขอแลก 3. การกำหนดจำนวนวันทำการประมง หากเรือที่นำมาเปลี่ยนประสิทธิภาพเท่ากับเรือที่ขอแลก จะได้จำนวนวันเท่าที่ได้ในปี 2560 หากเรือที่นำมาเปลี่ยน ประสิทธิภาพน้อยกว่าเรือที่ขอแลก จำนวนวันจะเพิ่มขึ้น แต่หากเรือที่นำมาเปลี่ยน ประสิทธิภาพมากกว่าเรือที่ขอแลก จำนวนวันจะลด 4.เมื่อแลกเปลี่ยนแล้ว จะต้องนำเรือลำเดิมไปทำลาย หรือไปทำปะการังเทียม หรือขายต่อไปต่างประเทศหรือเปลี่ยนประเภทการใช้เรือ 5.ชาวประมงสามารถนำเรือที่เปลี่ยนมายื่นขอใบอนุญาตทำการประมงสำหรับปีประมง 2561

“เรือที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งระงับ เพราะไม่มีใบอนุญาตทำประมง ถูกล็อกพังงาไว้ เหลืออยู่ประมาณ 949 ลำ เป็นกลุ่มเรือขาว-ส้ม จะต้องเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรือเท่านั้น ส่วนกลุ่มเรือที่วัดขนาดแล้วเกิน 10% ขึ้นไป 848 ลำ จะต้องนำมาควบรวมใบอนุญาตกันเท่านั้น”