นำเข้า “วัตถุดิบอาหารสัตว์” พุ่ง

ข้าวโพด

สถานการณ์การผลิตปศุสัตว์ไทยในปี 2564 ยังมีแนวโน้มร้อนแรง จากปัญหาเรื่องของโรคระบาดในวัว หรือโรคลัมปิสกิน และโรคระบาดในสุกร (หมู) ที่สร้างความเสียหายต่อกลุ่มผู้เลี้ยง

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ในช่วง 4 เดือนแรก ยังอยู่ในภาวะ
น่าห่วง จากตัวเลขส่งออก 44,417 ล้านบาท ลดลง 6.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับสินค้าประมง มีมูลค่า 14,435 ล้านบาท ลดลง 9% นั่นอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตอาหารสัตว์และเกษตรกรซึ่งเป็นต้นทางของอุตสาหกรรม

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ความต้องการอาหารสัตว์ปัจจุบันคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 20.6 ล้านตัน เนื่องการแพร่ระบาดของโรคสัตว์ทั้งในหมูและวัวยังไม่กระทบ

อีกทั้งการผลิตอาหารสัตว์ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปทั้งในตลาดยุโรปและญี่ปุ่น ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังคงมีการบริโภคและมีความต้องการนำเข้าต่อเนื่อง

สำหรับทิศทางของวัตถุดิบอาหารสัตว์จากการติดตามมีแนวโน้ม “เพิ่มขึ้น” เช่น ราคาข้าวโพดตลาดโลก กก.ละ 8.50 บาท ส่วนราคาข้าวโพดในไทยวันนี้ กก.ละ 9.50-9.80 บาท ส่วนราคาข้าวสาลีนำเข้า กก.ละ 8.50 บาท แต่เมื่อส่งถึงไทยจะมีราคาเกือบ กก.ละ 10 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีราคา กก.ละ 7 บาท

ราคากากถั่วเหลืองนำเข้า กก.ละ 15 บาท ส่งถึงไทย กก.ละ 17 บาท โดยราคาปรับลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนราคาที่ กก.ละ 13 บาท “ปรับขึ้น” 30-40% เป็นไปตามการเติบโตของการส่งออกในกลุ่มสินค้าอาหารสดแปรรูป โดยเฉพาะไก่สดและแปรรูป

อย่างไรก็ดี ความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยก็ยังไม่เพียงพอ ยังต้องการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศปี 2564 คาดว่ามีปริมาณ 4.8 ล้านตัน จากความต้องการปีนี้น่าจะอยู่ที่ 8.4 ล้านตัน

ส่วนต่างที่เหลือไทยจำเป็นต้องนำเข้า ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านตามระเบียบที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้มีช่วงเวลานำเข้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อผลผลิตภายในประเทศ ส่วนการนำเข้าข้าวสาลีก็ยังตามกฎระเบียบเดิม คือ 3 ต่อ 1 ซึ่งต้องยอมรับว่าเงื่อนไขที่มียังเป็นอุปสรรคต่อการผลิตอาหารสัตว์

อย่างไรก็ดี สิ่งที่กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ให้ความสำคัญต่อตลาดส่งออกมากกว่า คือ สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมและเศรษฐกิจสีเขียว จากนโยบาย “กรีนดีล” (European Green Deal) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ จะทำให้อัตราภาษีสินค้าส่งออกสูงขึ้น ภาครัฐ เอกชน ผู้ส่งออกต้องให้ความสำคัญ เพราะนโยบายดังกล่าวนั้นต้องดูตลอดห่วงโซ่การผลิต หากไม่มีการเตรียมความพร้อมโอกาสการส่งออกหรือการแข่งขันจะลำบากเพิ่มขึ้น

ด้าน นายพรเทพ ปู่ประเสริฐ นายกสมาคมการค้าพืชไร่ กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสมาคมทำหนังสือร้องเรียนไปยังกรมปศุสัตว์ ถึงปัญหาคุณภาพธัญพืชทดแทนสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ ตลอดจนความไม่เป็นธรรมด้านภาษี และความไม่โปร่งใสในการตรวจสอบคุณภาพของธัญพืชทดแทนที่นำเข้าสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ที่ค้างคามานานกว่า 3 ปี โดยไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ

กล่าวคือแต่เดิมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เเละถั่วเหลืองมีการนำเข้านำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ กระทั่งปีกระทรวงการคลังได้ปรับแก้ภาษีนำเข้าข้าวสาลีจาก 27% ลดลงเหลือ 0% และอนุญาตให้นำเข้าข้าวสาลีมาเป็นวัตถุดิบทดแทนในอุตสาหกรรม ส่งผลให้ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างมีนัยสำคัญ กระทั่งรัฐเองต้องออกมาตรการ 3 : 1 ให้ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน นำเข้า 1 ส่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร

แต่ล่าสุดข้อมูลในปี 2563 กลุ่มผู้ผลิตอาหารได้หันไปนำเข้ากากข้าวโพด (DDGS) รวมถึงข้าวบาร์เลย์เพิ่มขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการ 3 : 1 และยังนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเพื่อนบ้านถึง 1.59 ล้านตัน แบบปลอดภาษี จนเกินความต้องการของตลาด

ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่อ้างว่าวัตถุดิบไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยในเดือน พ.ค. กก.ละ 8.50 บาท ต่ำกว่าราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดโลกที่ กก.ละ 9.37 บาท ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐต้องนำเงินภาษีประชาชนมาจ่ายชดเชยให้เกษตรกร ต้องแบกรับภาระจากนโยบายอย่างไม่สมดุล

ซึ่งทางสมาคมขอให้รัฐทบทวนอัตราภาษี และให้กรมช่วยตรวจสอบคุณภาพธัญพืชนำเข้า อาทิ ปริมาณปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของวัตถุดิบนำเข้า ซึ่งอาจจะมีส่วนผสมของสารเคมี หรือมีการตัดแต่งพันธุกรรม