โควิดรอบ 3-การเมือง ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 44.7 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

นักท่องเที่ยว

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 44.7 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากผู้บริโภคยังกังวลการแพร่ระบาดโควิดรอบ 3 และการเมืองยังไม่เสถียรภาพ ส่งผลให้การจับจ่ายระวังมากขึ้น

วันที่ 10 มิถุนายน 2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 44.7 จากเดือนเมษายน 2564 ซึ่งอยู่ที่ 46.0 โดยดัชนีลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และต่ำสุดในรอบ 22 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 38.9 จาก 40.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 41.3 จาก 42.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 53.9 จาก 54.7

โดยปัจจัยลบสำคัญที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่น ได้แก่ ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตต่อประชาชนและภาคธุรกิจ, การกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน, สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ไตรมาส 1/64 ติดลบ 2.6% และปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 64 เหลือโต 1.5-2.5%, ราคาน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, ความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ, กังวลภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รายได้ไม่สอดคล้องค่าครองชีพ, เงินบาทแข็งค่า

ขณะที่ปัจจัยบวก เช่น รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ, การฉีดวัคซีนในประเทศเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5%, การส่งออกเดือน เม.ย. ขยายตัว 13%, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดโควิดรอบ 3 เป็นผลกระทบที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวล ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้า ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก และขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการ “เราชนะ” และโครงการต่าง ๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยังคงต้องระวังและลดน้อยลง ประกอบกับการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว และมีการล็อกดาวน์บางธุรกิจโดยมีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคพอสมควร

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคน่าจะเริ่มปรับตัวขึ้นในเดือน มิ.ย. หลังจากที่เริ่มมีปฏิบัติการปูพรมฉีดวัคซีนต้านโควิดกันทั่วประเทศในเดือนนี้ แม้ปริมาณวัคซีนอาจจะมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แต่การฉีดวัคซีนก็ดำเนินการเป็นวงกว้าง และมีแผนการฉีดวัคซีนที่เป็นรูปธรรม ในขณะที่กำลังจะมีวัคซีนทางเลือกยี่ห้ออื่น ๆ เข้ามาในประเทศมากขึ้น เพิ่มเติมจากวัคซีนยี่ห้อหลักที่ใช้ในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ก็ยังมีปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะกลาง คือ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ซึ่งผู้บริโภคมีความกังวลว่าสถานการณ์จะไม่นิ่ง การอภิปรายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองได้

ทั้งนี้ หากการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศทำได้มากขึ้นในเดือน มิ.ย. และเดือน ก.ค.นี้ ประกอบกับรัฐบาลยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3 นี้ ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รวมถึงการดำเนินการตามแผน Phuket Sandbox และการส่งออกไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโต 2% เป็นอย่างน้อย ส่วนการส่งออกคาดว่าในปีนี้จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 7% และหากสามารถรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ราว 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกที่จะเป็นตัวช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้ไวขึ้น เพราะมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทุก 1% จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้น 6-8 แสนล้านบาท

ส่วนกรณีการแพร่ระบาดของโควิดในคลัสเตอร์โรงงานต่าง ๆ ในประเทศ จะไม่ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนในภาคการผลิตเพื่อการส่งออกในปีนี้ เพราะการแพร่ระบาดในโรงงานยังมีส่วนน้อย ซึ่งแต่ละโรงงานมีมาตรการดูแลที่เข้มข้น แต่ปัจจัยที่อาจกระทบต่อภาคการส่งออก น่าจะเป็นเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งคาดว่าปัญหานี้จะยืดเยื้อไปถึงปลายไตรมาส 3 หรือต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 รวมถึงปัญหาการปรับขึ้นค่าระวางเรือ แต่อย่างไรก็ดี มองว่าภาพรวมการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ดี