สศก.เผยน้ำท่วมปีนี้ เสียหายกว่า 1.4 หมื่นล้าน กระทบจีดีพี 3.6 พันล้าน

DCIM100MEDIADJI_0042.JPG

นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ( KOFC) ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่าจะสร้างความเสียหาย รวม 14,198.21 ล้านบาท กระทบกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 3,648.01 ล้านบาท หรือ 0.04% ของมูลค่าจีดีพีรวมทั้งประเทศ และ 0.59% ของมูลค่าจีดีพีสาขาเกษตร โดยสาขาพืชมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด 3,593.17 ล้านบาท รองลงมาเป็นสาขาประมง 53.47 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 1.38 ล้านบาท

นายภูมิศักดิ์กล่าวว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้น แบ่งได้ เป็น 3 ช่วง คือ 1.วันที่ 5 กรกฎาคม -15 สิงหาคม 2560 อิทธิพลพายุตาลัส-เซินกา สำรวจความเสียหายแล้ว จำนวน 43 จังหวัด เกษตรกรรวม 444,854 ราย เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 11,959.65 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านพืชเสียหาย 3.41 ล้านไร่ มูลค่า 11,817.04 ล้านบาท ประมงพื้นที่บ่อปลา 12,253 ไร่ มูลค่า 133.68 ล้านบาท และด้านปศุสัตว์ สัตว์ตายและสูญหาย 60,591 ตัว มูลค่า 8.93 ล้านบาท ปัจจุบันให้การช่วยเหลือแล้ว 3,869.39 ล้านบาท 2.ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม – 30 กันยายน 2560 อิทธิพลพายุทกซูรี พื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย เกษตรกรรวม 51,565 ราย และ 3.วันที่ 1 ตุลาคม – ปัจจุบัน จากหย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องมรสุม พื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย เกษตรกรรวม 194,692 ราย ซึ่งพืชได้รับความเสียหายมากที่สุด 3.41 ล้านไร่ หรือ 27.90% ของพื้นที่เสียหายจากอุทกภัยในปี 2554

นายภูมิศักดิ์กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากอุทกภัยช่วงวันที่ 16 สิงหาคมจนถึงปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย ประมาณ 1.94 ล้านไร่ คาดการณ์ว่าจะเสียหายโดยสิ้นเชิงประมาณ 20% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 2,238.57 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหายทั้ง 3 ช่วงภัยเป็น 14,198.21 ล้านบาท

นายภูมิศักดิ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแล้ว โดยให้ความช่วยเหลือระยะเร่งด่วน แจกจ่ายพืชอาหารสัตว์ 70,815 กิโลกรัม แร่ธาตุและเวชภัณฑ์ 1,758 ชุด ในพื้นที่ 3 จังหวัดได้แก่ พิษณุโลก กาฬสินธุ์ พิจิตร ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 168 เครื่อง ในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม นครสวรรค์ สุพรรณบุรี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 30 เครื่อง ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี และแจกจ่ายพืชอาหารสัตว์ 240,190 กิโลกรัม แร่ธาตุและเวชภัณฑ์ 22,492 ชุด รวมทั้งดูแลสุขภาพสัตว์ 6,948 ตัว ในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย สุโขทัย อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา และร้อยเอ็ด เป็นต้น นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ยังเห็นชอบให้ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเนื่องจากพายุตาลัส และพายุเซินกา ครัวเรือนละ 3,000บาท จำนวน 43 จังหวัด

นายภูมิศักดิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม KOFC เห็นว่าเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ในระยะสั้นควรปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ การเร่งสำรวจท่อระบายน้ำ คู คลอง หนองบึง และระบบระบายน้ำ การก่อสร้างคันกั้นน้ำขนาดที่เหมาะสม ก่อสร้างทางผันน้ำ เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งออกไป ส่วนระยะยาว ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ และอ่างเก็บน้ำ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่ที่ต้องการป้องกัน และสร้างฝายยกระดับเพื่อผันน้ำเข้าพื้นที่เก็บน้ำ การสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อบรรเทาน้ำท่วมกระจายให้ครอบคลุมพื้นที่เพื่อเก็บน้ำใช้ในฤดูแล้งและยังสามารถช่วยควบคุมการไหลของน้ำไม่ให้ไหลลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำมากเกินไป การปรับปรุงผังเมืองให้สอดคลองกับแนวทางการระบายน้ำในสภาพปัจจุบันและแผนในอนาคต ควรนำมาตรการทางด้านกฎหมายผังเมืองรวมมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อลดความสูญเสีย โดยการปลูกพืชอายุสั้นทันเก็บเกี่ยวก่อนน้ำมา และส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการทำการเกษตร

ที่มา : มติชนออนไลน์