ชาวนาเตือนรับมือฝนทิ้งช่วง หวั่นผลผลิต “ข้าวนาปี” ไม่ถึง 29 ล้านตัน

นาข้าว

“ชาวนา” หวั่นฝนขาดช่วง-น้ำชลประทานน้อยกว่าที่คาด วอนรัฐเร่งแก้ไขขุดเจาะบาดาล หวั่นกระทบผลผลิตปี’64/65 หลุดเป้า 28-29 ล้านตัน ด้าน ส.โรงสีข้าวไทยยัน 600 โรงสีพร้อมรับซื้อข้าวจากชาวนาทุกเมล็ดขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือดอกเบี้ยพิเศษให้มีเงินหมุนเวียนคล่องขึ้น

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยกล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสมาคมได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อติดตามสถานการณ์ผลผลิตของข้าวนาปี 2564/65

ปราโมทย์ เจริญศิลป์
ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย

ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดอยู่ที่ประมาณ 27-28 ล้านตัน ข้าวเปลือกจากปีก่อนที่มีประมาณ 24-25 ล้านตัน ส่วนแนวโน้มราคาข้าวที่หลายฝ่ายประเมินว่าจะลดลงนั้นที่ประชุมยังประเมินในตอนนี้ไม่ได้ต้องประเมินช่วงที่ผลผลิตออก เพราะสิ่งที่เกษตรกรกังวลในช่วงนี้ คือ ฝนขาดช่วงน้ำน้อย จากที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าน้ำดีจากฝนที่มาเร็วกว่าปกติ

“ขณะนี้ต้องยอมรับว่าเริ่มมีปัญหาฝนเริ่มขาดช่วง หลายพื้นที่ร้อนมากขึ้น น้ำชลประทานลดลงซึ่งเป็นสิ่งที่น่าห่วงเป็นอย่างมากที่จะกระทบต่อผลผลิตข้าว หลายพื้นที่เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกบ้างแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานเกษตรกรลงปลูกข้าวแล้วแต่ช่วงนี้พบว่าข้าวที่ปลูกไปแล้วเริ่มขาดน้ำ น้ำในชลประทานน้อยลงไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกอาจจะทำให้นาข้าวได้รับความเสียหายได้หากไม่มีน้ำเติมเข้ามา ทางสมาคมได้เสนอที่ประชุมเบื้องต้นว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันเรื่องของการเจาะบ่อบาดาลให้ได้ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล เพื่อช่วยเหลือแก้ปัญหานี้”

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือในการเดินหน้าเพาะปลูกข้าวพื้นนุ่ม ซึ่งปัจจุบันได้ไปปลูกในหลายพื้นที่ ซึ่งหลัก ๆ อยู่ในเขตภาคกลางหรือพื้นที่ชลประทานเป็นหลัก เช่น กำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี เป็นต้น โดยจากที่ประเมินแต่ละพื้นที่มีการปลูกข้าวขาวพื้นนุ่มมากกว่า 8,000 ไร่ ในสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น กข 79 กข 87 ปทุม 43 เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เพื่อให้มีผลผลิตข้าวพื้นนุ่มมากขึ้นตามที่ตลาดต้องการ ชาวนาเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนพันธุ์ข้าวให้กับชาวนา และให้ความรู้ว่าตลาดผู้นำเข้า ตลาดผู้ส่งออกนิยมข้าวแบบไหนเพื่อชาวนาจะได้ปลูกข้าวตามที่ตลาดต้องการ

“โรงสีข้าวก็ต้องแปรรูปข้าวโดยที่ไม่มีการปนข้าวพันธุ์อื่นด้วย เพื่อให้ได้ข้าวตามที่ตลาดต้องการด้วย ซึ่งหากดำเนินการตามที่ต้องการได้เชื่อว่าชาวนาจะได้รายได้ที่ดีเพราะมีตลาดรองรับ ซึ่งทุกหน่วยงานก็ต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ส่วนราคาข้าวต้องติดตามช่วงผลผลิตออก แต่ที่ผ่านมาราคาข้าวชาวนาขายได้ราคาดี ประกอบกับภาครัฐมีโครงการประกันรายได้จึงทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายข้าว”

ด้านนายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าผลผลิตข้าวนาปี 2564/65 ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีนี้ประมาณ 29 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปี 2563/2564 ที่มีปริมาณ 24-25 ล้านตันข้าวเปลือกจากที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนในปีนี้คาดว่าน้ำดี ฝนดี จึงประมาณว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น

รังสรรค์ สบายเมือง
รังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย

ขณะที่สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกโดยเฉพาะข้าวขาวขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 8,000-9,000 บาทต่อตัน หรือหากดูในราคาข้าวสารข้าวขาว ตันละ 13,000-15,000 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิ ข้าวเปลือกตันละ 9,500-11,000 บาทต่อตัน ราคาข้าวสาร 20,000-23,000 บาท โดยราคาข้าวในตลาดมีทิศทางปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปีตามกลไกของราคาตลาด ประกอบกับขณะนี้ผลผลิตนาปรังออกสู่ตลาดใกล้หมดแล้ว เกษตรกรเก็บเกี่ยวใกล้หมดเหลือเพียงในบางพื้นที่เท่านั้นที่อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยว และส่วนใหญ่ชาวนาจะเข้าสู่ช่วงการเพาะปลูกรอบใหม่แล้ว

“น้ำดี ฝนดี ทำให้ชาวนาในตอนนี้เริ่มเพาะปลูกข้าวในฤดูถัดไปแล้ว ซึ่งทำให้คาดว่าผลผลิตข้าวในปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา แต่ราคาข้าวจะเป็นอย่างไรยอมรับยังประเมินไม่ได้เพราะต้องติดตามปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งผลผลิต การส่งออก การขนส่ง ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อราคา ดังนั้น รอช่วงที่ผลผลิตออกถึงจะประเมินราคาข้าวได้”

ทั้งนี้ สมาชิกของสมาคมโรงสีข้าวไทยซึ่งมีประมาณ 600 ราย ต่างให้ความมั่นใจว่าผลผลิตข้าวปีนี้ผู้ประกอบการโรงสีพร้อมจะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรทุกเมล็ดจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่ผู้ประกอบการโรงสีข้าวไทยต่างปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องจึงเชื่อว่าเริ่มพร้อมที่จะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรได้แล้ว

อย่างไรก็ดี เพิ่มเตรียมการรับมือก็ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเรื่องของอัตราดอกเบี้ยพิเศษให้ผู้ประกอบการด้วย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีเงินหมุนเวียนที่มากขึ้นในการรับซื้อข้าวจากเกษตรกร