เริ่มกระบวนการยุติข้อพิพาทปิดเหมืองทองคำของ “อัคราฯ” ในคณะอนุญาโตตุลาการ ฝ่ายไทยตั้งรับคำนวณ ค่าชดเชยความเสียหาย รอ “คิงส์เกตฯ” บินเจรจารัฐบาลไทยภายในเดือนนี้
นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากที่บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำชาตรีในจังหวัดเพชรบูรณ์-พิจิตร ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการแก้ข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย ด้วยการขอตั้ง “คณะอนุญาโตตุลาการ” ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement หรือ TAFTA) เพื่อ “บังคับ” ให้รัฐบาลไทยจ่ายค่า “ชดเชย” ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกคำสั่งตามมาตรา 44 ระงับการทำเหมืองทองของบริษัทตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา
การที่บริษัทแม่ตัดสินใจครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้พยายามเจรจากับทางกระทรวงอุตสาหกรรม มาแล้ว 2 ครั้ง “แต่ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกิดขึ้น” ในขณะที่บริษัทอัคราฯเองได้รับความเสียหายจากการหยุดดำเนินการทำเหมือง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยหากคิดเฉพาะผลกำไรในแต่ละปีที่บริษัทได้รับจากการขายทองคำ คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท “การหยุดดำเนินการครั้งนี้ทำให้กำไรทั้งหมดของบริษัทหายไปทันที” นายเชิดศักดิ์กล่าว
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ บริษัทคิงส์เกตฯจะทำหนังสือแจ้งให้กับรัฐบาลไทยรับทราบอย่างเป็นทางการ และเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอชื่อผู้แทนของแต่ละฝ่ายที่จะเข้ามานั่งใน คณะอนุญาโตตุลาการ จากฝ่ายของบริษัท-กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนในฐานะบุคคลที่สาม ซึ่งจะต้องเป็นที่ยอมรับจากทั้ง 3 ฝ่าย เสร็จแล้วจึงจะมากำหนดประเด็นที่จะพิจารณาในคณะอนุญาโตตุลาการ สิ่งที่ทางบริษัทคิงส์เกตฯเห็นว่า ไม่ชอบธรรมตรงไหนบ้าง สำหรับค่าเสียหายที่จะเรียกร้องเป็น “เงินชดเชย” กับทางรัฐบาลไทย ขณะนี้บริษัทกำลังยังอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย
ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า บริษัทคิงส์เกตฯสามารถเริ่มกระบวนการแก้ไขข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย ภายใต้ TAFTA แม้ว่า ข้อพิพาทจะเข้าสู่คณะอนุญาโตตุลาการแล้วก็ตาม แต่ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเจรจาหารือเพื่อหาข้อยุติและทางออกที่ดีที่สุดร่วมกันต่อไปได้ “ผมยอมรับว่าการเจรจาเรื่องเหมืองทองคำมันมีความซับซ้อน แต่กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงยืนยันว่า รัฐบาลไทยมีจุดยืนในเรื่องของการดูแลประชาชนคนไทยเป็นสำคัญ” นายอุตตมกล่าว
สำหรับข้อเรียกร้องของบริษัทคิงส์เกตฯ ที่ระบุในเอกสารชี้แจงว่า “ยังคงมีโอกาสในการได้รับการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากทางราชอาณาจักรไทย” นั้นถือเป็นสิ่งที่บริษัทคิงส์เกตฯ เรียกร้องมาตั้งแต่ต้น นั่นจึงเป็นที่มาว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและคิงส์เกตฯได้เจรจากันจนถึงวันนี้ อย่างไรก็ตาม จากกรณีนี้เชื่อว่า “จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขการลงทุนที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น” นายอุตตมกล่าว
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะกรรมการข้อพิพาทกรณีเหมืองแร่ทองคำฯ และทีมทนายความได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยืนยันว่าในขณะนี้เรื่องทั้งหมดได้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเรียบร้อยแล้ว และกระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสิ่งที่กระทรวงได้ดำเนินการต่อจากนี้ คือ เตรียมเสนอชื่อผู้แทน ซึ่งจะเป็นบุคคลที่สามเข้ามาวินิจฉัยข้อพิพาท คิดว่าน่าจะเป็นเอกชนต่างชาติอาจเป็นประเทศอังกฤษ รวมถึงวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเจรจาสำหรับข้อเรียกร้องที่คิงส์เกตฯเสนอมา ส่วนระยะเวลาในการพิจารณาในคณะอนุญาโตตุลาการ อาจเนิ่นนานถึง 1-2 ปี
“ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากคำสั่งให้ระงับการทำเหมืองทองนั้น ทางทนายของฝ่ายไทยอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อทำการคำนวณว่า นับตั้งแต่วันที่โรงโลหกรรมของอัคราฯหยุดดำเนินการ คือ 1 มกราคม 2560 จนถึงปัจจุบัน มีความเสียหายเกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่าเท่าใด” นายพสุกล่าว
ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า คณะกรรมการข้อพิพาทกรณีเหมืองแร่ทองคำฯเตรียมข้อเสนอ “อาจจะ” ให้บริษัทอัคราฯเปิดดำเนินการทำเหมืองในส่วนของไลน์การผลิตของโรงโลหกรรมเพื่อให้ถลุงทองที่ค้างท่ออยู่ให้เสร็จ รวมถึงการพิจารณา “เพิ่ม” สิทธิประโยชน์ของ BOI ให้ทดแทนการชดเชยมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น