กกร. คุม 51 สินค้า-บริการต่ออีก 1 ปี

ผลไม้

จุรินทร์ เผยที่ประชุม กกร. เห็นชอบให้ต่ออายุมาตรการดูแลสินค้าและบริการควบคุม 51 บริการต่อไปอีก 1 ปี

วันที่ 15 มิถุนายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 2/2564 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ ประเด็นที่หนึ่ง ที่ประชุมมีมติให้ต่ออายุสินค้าและบริการที่เป็นสินค้าและบริการควบคุม 51 รายการ แบ่งเป็น สินค้า 46 รายการ บริการ 5 รายการ เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 64 – 30 มิ.ย. 65 ซึ่งจะต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

และที่ประชุมมีมติเพิ่มมาตรการอีก 3 มาตรการ มาตรการที่ 1 ในสินค้า 4 รายการ ประกอบด้วย กาก DDGS คือกากเหลือจากทำเอทานอล ข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ให้สามารถแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

มาตรการที่ 2 เหล็ก 3 รายการ ประกอบด้วยเหล็กเส้น ต้องแจ้งข้อมูลปริมารการนำเข้า ปริมาณการผลิต ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณคงเหลือ เป็นประจำทุกเดือน เหล็กเคลือบดีบุกและเหล็กโครเมียม ปรับมาตรฐานการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ของ มอก.

มาตรการที่ 3 ลิขสิทธิ์เพลง ต่อไปนี้เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องแสดงรายละเอียดเพิ่มเติมทั้งหมด 8 รายการ เพื่อคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์และเพื่อคุ้มครองผู้ที่จะมาซื้อลิขสิทธิ์หรือใช้บริการลิขสิทธิ์ เช่น ชื่อผู้แต่งเนื้อร้องและทำนอง และวันสิ้นสุดสัญญาอนุญาตให้จัดเก็บค่าตอบแทน เป็นต้น

สำหรับประเด็นที่สอง เรื่องการแสดงราคารับซื้อสินค้าทางการเกษตร ประกอบด้วย 3 มาตรการใหม่ คือ มาตรการที่ 1 ผักและผลไม้ 5 รายการ ประกอบด้วย มะเขือเทศ พริก ฟักทอง กะหล่ำปลี และผักและผลไม้อื่น ๆ ต้องปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ เพื่อให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น

มาตรการที่ 2 ผลไม้ 9 ชนิด ประกอบด้วย เงาะ มะม่วง ทุเรียน มังคุด ลองกอง ลำไย ลิ้นจี่ ส้มและสับปะรด นอกจากปิดป้ายแสดงราคารับซื้อแล้ว ต้องปิดป้ายเวลา 8.00 น. ตอนเช้า เพื่อให้เกษตรกรทราบว่าวันนี้ราคาเท่าไหร่ จะเก็บเกี่ยวผลผลิตไปขายหรือไม่จะได้มีทางเลือก

มาตรการที่ 3 พืชผลการเกษตร 4 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน (ผลปาล์มสด) และมันสำปะหลัง ห้ามคิดค่าชั่งน้ำหนักแล้วนำไปหักออกจากราคารับซื้อ

“และที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาเรื่อง แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่หรือแพลตฟอร์มให้บริการจำหน่ายอาหารผ่านระบบดีลิเวอรี่ ให้พิจารณาเรื่องค่าจีพี ค่าขนส่งหรือค่าใช้จ่ายอื่น เพื่อให้แพลตฟอร์มอยู่ได้และร้านอาหารและผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมยิ่งขึ้น หาจุดสมดุลของทั้ง 3 ฝ่ายต่อไป โดยมอบหมายให้อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานอนุกรรมการและมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการในเรื่องนี้”