“สมาพันธ์เอสเอ็มอี” วอนบิ๊กตู่ 3 ข้อ ก่อน 120 วัน เปิดประเทศ

หวั่น SMEs ล้มละลายตาย “สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย” ชงข้อเสนอผ่านบอร์ด สสว. ถึง “นายกรัฐมนตรี” พักต้น-พักดอก ปล่อยสินเชื่อ Factoring ดึงกองทุนประกันสังคมเครื่องมือเข้าช่วย หวังกู้ชีพผู้ประกอบการทุกระดับมีแรงประกอบกิจการก่อน 120 วันเปิดประเทศ พร้อมจี้รัฐนิยาม SMEs ให้ตรงกันทุกหน่วยงาน

วันที่ 18 มิถุนายน 2564 นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า หลังจากที่เกิดโควิด-19 ระลอก 3 พบว่ามี SMEs ได้รับผลกระทบถึง 300,000 ราย หากรวมระลอก 1 พบว่ากระทบกว่า 70% จาก SMEs ทั้งหมด 3.1 ล้านราย ดังนั้นก่อนที่รัฐบาลจะเตรียมเปิดประเทศในอีก 120 วัน สมาพันธ์จึงได้หารือกับนายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา

เพื่อนำไปเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้เร่งดำเนินการ 3 ข้อสำคัญแบบเร่งด่วน ให้ทันก่อนเปิดประเทศ โดยจะติดตามความคืบหน้า 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนหลังจากนี้ หากยังไม่เป็นผลจะขอเข้าพบนายกฯ โดยตรง

โดยขอให้ 1.พักต้น พักดอก เติมทุน โดยไม่คิดดอกเบี้ยตลอดเวลาการพักเงินต้น และต้องยืดระยะเวลาออกไปรวมทั้งไม่คติด้ครดิตบูโร

2.สินเชื่อ Factoring ใบสั่งซื้อ-ใบกำกับภาษี mSMES หรือการใช้ใบสั่งซื้อมาขอสินเชื่อ 30-50% ของวงเงินใบสั่งซื้อจากลูกค้าของ mSMES เพื่อนำเงินไปซื้อวัตถุดิบ เมื่อผลิตส่งมอบสินค้าเรียบร้อยสามารถนำใบกำกับภาษีมาขอสินเชื่อส่วนที่เหลือได้

3.กองทุนประกันสังคม 30,000 ล้านบาท ที่มีออกมาแต่ผู้ประกอบการเข้าถึงยากมาก ที่ควรให้กู้กับผู้ประกอบการที่มีประวัติส่งเงินสมทบตรง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และไม่ให้กระทบต่อ SMEs ทุกระดับกว่า 1 ล้านราย +ครอบครัวรวมเป็น 5 ล้านราย หากมาตรการไม่ถูกผลักดันจนสำเร็จ

ส่วนมาตรการในระยะถัดไปที่ต้องดำเนินตามมา คือการฟื้นฟูกิจการ ด่วยการตั้ง 3 กองทุน ได้แก่ 1.การนำกองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐออกจากระบบ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลอยู่โดยให้มืออาชีพด้านการเงินเข้ามาบริหารแทน และโยกไปอยู่พายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

2.กองทุนฟื้นฟู NPL เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย เพื่อให้รายที่มีหนี้ NPL ปัจจุบันกว่า 24,000 ล้านบาท เข้าถึงแหล่งทุน 3.กองทุนพัฒนานวัตกรรม ที่จะเข้ามาช่วยเสริมมูลค่าเพิ่ม

“สิ่งที่เป็นกับดักทำให้ SMEs ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและต้องตายในตอนนี้มีหลายสาเหตุ เราจึงต้องการให้รัฐผลักดัน Soft Loan 2 วงเงิน 25,000 ล้านบาท ปรับปรุง 4 เรื่องคือ นิยามคำว่า SMEs ใหม่ให้ตรงกัน แบ่งวงเงินแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการให้ชัดเจน กำหนดเป้าหมายจำนวน SMEs แต่ละกลุ่มให้ชัด และต้องผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาใหม่”