ร้านขายหมูห้องแถวโผล่พรึ่บ ไม่หวั่นโรคระบาดถล่มราคาชาบูโลละ 100

ปศุสุตว์OK

ไม่หวั่นโรคระบาด รายย่อยแห่เปิด “ร้านหมู-ไข่-ไก่ ห้องแถว” ถล่มราคาขายหมูชาบู-หมูกระทะ 100 บาท/กก. เกษตรฯไล่ตามออกเครื่องหมายรับรอง “ปศุสัตว์ OK” การันตีความปลอดภัยปีละ 1,000 แห่ง ด้านสมาคมผู้เลี้ยงฯเตรียมระดมสมองรับมือผลผลิตหมูลด 30%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโรค ทั้งโรค PRRS ในสุกรซึ่งสร้างความเสียหายต่อผลผลิตประมาณ 5% และโรคลัมปิสกิน (Lumpy skin) ในโค-กระบือ ซึ่งสร้างความเสียหายให้เกษตรกร 41 จังหวัด มีสัตว์ป่วย 2 แสนตัว

ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าเป็นโรคดังกล่าวเกษตรกรจะได้รับการเยียวยาชดเชยรายได้ เช่น ผู้เลี้ยงโค-กระบือจะได้รับชดเชยกรณีที่อายุสัตว์ไม่เกิน 6 เดือน โคอัตราตัวละ 6,000 บาท กระบือตัวละ 8,000 บาท กรณีที่มีอายุ 6 เดือน-1 ปี สำหรับโคตัวละ 16,000 บาท กระบือตัวละ 18,000 บาท แต่ก็น่าจะกระทบให้ปริมาณซัพพลายลดลง ราคาควรจะ “สูงขึ้น”

แต่ล่าสุดจากการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อหมูชำแหละ เนื้อวัวในพื้นที่ จ.กรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่าขณะนี้ร้านแผงหมูในตลาดส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด แต่กลับมีภาพปรากฏการณ์การเปิดร้านค้าปลีกจำหน่ายเนื้อสัตว์ขนาดเล็ก พื้นที่ 1-2 คูหานอกตลาดสด เพื่อตั้งร้านค้าปลีกสินค้าปศุสัตว์เพิ่มขึ้น

และยังมีการขายผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพิ่มขึ้น และที่สำคัญมีการลดจัดโปรโมชั่นราคาถูกมาก เช่น ร้านหมูแห่งหนึ่งย่านนนทบุรี จำหน่ายหมูสด ไก่สด หมูกระทะ หมูชาบู และหมูบด กก.ละ 100 บาท สะโพกหมู กก.ละ 120 บาท ต่ำกว่าร้านโมเดิร์นเทรดประมาณ กก.ละ 20-30 บาท ทั้งนี้ เมื่อสอบถามร้านค้าเหล่านั้นแจ้งว่าได้รับซื้อวัตถุดิบมาจากฟาร์มย่อย ผสมผสานกับการจำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ให้กับแบรนด์ของผู้ผลิตรายใหญ่โดยตรงจึงสามารถขายได้ในราคาถูกได้

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า การที่มีร้านจำหน่ายเนื้อหมูขนาดเล็กเพิ่มขึ้นตามจุดต่าง ๆ น่าจะส่งผลดีต่อการจำหน่ายสินค้าและเกษตรกร ส่วนเรื่องเอฟเฟ็กต์ของโรคระบาดต่าง ๆ คิดว่าไม่น่าจะกระทบ เพราะรายย่อยต้องขออนุญาตตามใบอนุญาตค้าสุกร มีกฎหมายของทางกรมปศุสัตว์ดูแล และกฎหมายของแต่ละท้องที่ดูแล เรื่องมาตรการการจำหน่ายจึงไม่น่าห่วง

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้สมาคมเตรียมจะประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์กับทางกรมปศุสัตว์ เพราะขณะนี้สถานการณ์การผลิตสุกร (หมู) คาดว่าจะได้รับผลกระทบความเสียหาย 30% จากโรคระบาด ซึ่งจะทำให้ทิศทางราคาหมูปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดราคาหมูหน้าฟาร์มปรับขึ้นมาเป็น กก.ละ 75 บาท

ด้าน นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคปัจจุบัน โดยการจัดทำเครื่องหมายรับรอง “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งนับตั้งแต่ดำเนินโครงการนี้ในปี 2559-ปัจจุบัน มีร้านที่ได้รับการรับรองแล้วรวม 6,487 แห่ง หรือเฉลี่ย 1,000 แห่งต่อปี

สรวิศ ธานีโต
นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์

แบ่งเป็นกลุ่มผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ 4,729 ร้าน และไข่โอเค 2,758 ร้าน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นร้านค้าปลีกเดี่ยว 1,997 ร้าน หรือคิดเป็น 26.67% และร้านค้าปลีกกลุ่ม 5,490 ร้าน หรือ 73.33% ซึ่งในกรณีที่เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรดจะพิจารณารับรองเป็นรายสาขาตามที่บริษัทยื่นคำขอ

สำหรับการตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ จะเน้นเรื่องแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่นำมาจำหน่ายจะต้องมาจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน GAP จากกรมปศุสัตว์ ผลิตจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องตามกฎหมาย และมีการตรวจสอบสุขลักษณะของสถานที่จำหน่าย

ทั้งนี้ กรมจะตรวจสอบรับรองสถานที่จำหน่ายแต่ละแห่งปีละ 1 ครั้ง ซึ่งกระบวนการขอใบรับรองทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ