ประเทศไทย 4.0 บทเรียนจาก WEF ต้าเหลียน

คอลัมน์ แตกประเด็น
ดร.รัชดา เจียสกุลโบลลิเกอร์แอนด์ คอมปานี (ประเทศไทย)

ดิฉันได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ติดตามท่านอธิบดี พิมพ์ชนก วอนขอพร ไปร่วมประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม ที่เมืองต้าเหลียน ระหว่างวันที่ 26-29 มิถุนายนที่ผ่านมา มีเรื่องน่าสนใจมาเล่าให้ฟัง

หลายคนสงสัยว่า ประชุม WEF ไม่ใช่ที่ดาวอสหรือ ? ที่ดาวอส มีการประชุมใหญ่ประจำปีในช่วงเดือมกราคมทุกปี ส่วนที่ต้าเหลียนนี้ เป็นการประชุมประจำปีของ WEF จัดที่ประเทศจีนสลับกันระหว่างเมืองต้าเหลียน และเมืองเทียนจิน จัดต่อเนื่องกันมา 10 ปีแล้ว หรือที่เรียกกันว่า ซัมเมอร์ดาวอส ใช้ชื่อว่า Annual Meeting of the New Champions 2017 หรือการประชุมประจำปีของแชมเปี้ยนใหม่ มีผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน มีคนไทยเข้าร่วมเพียง 8 ท่าน น้อยกว่าสิงคโปร์มีผู้เข้าร่วมงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนถึง 64 ท่าน นำคณะโดยท่านธาร์มาน ชันมูการัทนัม รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลสิงคโปร์

งาน WEF ที่ดาวอส จะเน้นเชิญผู้นำโลก Big Name ผู้มีชื่อเสียงมาร่วมประชุม แต่ในส่วนของงานที่ต้าเหลียนครั้งนี้ เน้นเชิญนักวิทยาศาสตร์ และนักธุรกิจหน้าใหม่ มาคุยเรื่องใหม่ ๆ น่าตื่นเต้น และแน่นอนมาคุยกันเรื่องจีน และแนะนำนักธุรกิจ-นักคิดสำคัญ ๆ ของจีน

งานนี้ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้กล่าวปาฐกถาเปิดงาน แสดงบทบาทผู้นำโลก เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth) ภายใต้กระแส “ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” (4th Industrial Revolution) ซึ่งจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ผู้เล่นทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน ผ่านการใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยี และระบบสารสนเทศ

พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเปิดรับโลกาภิวัตน์ ในฐานะเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม หากแต่ว่าการเปิดเสรีการค้าต้องเกิดขึ้นควบคู่กับความรับผิดชอบในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ด้อยโอกาส หรือความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ADVERTISMENT

แถมยังส่งตัวแทนมาโฆษณาว่าปัจจุบัน จีนกำลังปรับปรุงพื้นฐานภาคการเงิน การเปิดเสรี กฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในภาคการเงิน จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้การค้าและการลงทุนไปในทิศทางที่ดีขึ้น งานนี้จีนขนผู้แทนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน Startup ใหม่ ๆ

แต่พระเอกสำคัญของงานนี้คงเป็นตัวแทนจาก AIIB หรือ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย เพราะวันนี้จีนไปไหนจะพูดถึงนโยบาย One Belt One Road แต่เครื่องมือสำคัญคือเงินต้องถึง เค้าถึงว่ากันว่า “The Bank, the Belt, and the Road”

ADVERTISMENT

ไปงาน WEF ต้องไปฟังเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 หรือ IR 4.0 ซึ่งมาพ้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 พอดี ผู้นำทั่วโลกให้ความสำคัญกับ IR 4.0 มาพักใหญ่ ทาง WEF สนใจเรื่องนี้มาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว

สาเหตุที่เป็นเรื่องน่าสนใจมาก เพราะทุกคนต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ผู้คนมากมายเกรงกลัวว่า ตนจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร มีความต้องการคาดหวังว่าภาครัฐจะต้องมาช่วยจัดระเบียบ และป้องกันความโกลาหลอันจะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น เรื่อง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เรื่องโดรน เรื่องการพิมพ์ 3 มิติ (3D-Printing) เทคโนโลยีบล็อกเชน หรือเรื่อง IOT ซึ่งถูกแปลว่าอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือเข้าใจง่ายกว่าว่าคือ Smart Device

หันกลับมามองประเทศไทย 4.0 ชื่อหัวข้อดี๊ดี แต่เราได้ตอบคำถามสำคัญ 4 คำถามนี้หรือยัง 1) เทคโนโลยีใหม่ ๆ ต้องเป็นเทคโนโลยีที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และต้องขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ? 2) ผู้นำของประเทศ และองค์กรจะสามารถนำการปรับตัวเพื่อนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้อย่างต่อเนื่องได้อย่างไร ? 3) สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมที่จะนำเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เข้ามานั้น จะมีความยั่งยืนทั้งเรื่องพลังงาน เรื่องสุขภาพ เรื่องการศึกษา และเรื่องความเท่าเทียมต่าง ๆ ได้อย่างไร ? 4) ผู้นำ และชุมชน จะสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนและความหวาดกลัวต่อเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ๆ พวกนี้ได้อย่างไร เหล่านี้เป็นคำถามที่ผู้นำทางด้านความคิดระดับโลกระดมความคิดเห็นกันที่ต้าเหลียน ควรนำมาเป็นคำตอบใน+การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 แบบจับต้องได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ WEF เป็นองค์การระหว่างประเทศที่เน้นคำว่า Stakeholder Engagement หรือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน คล้ายคลึงกับประชารัฐของไทย ที่มีการแบ่งคณะทำงานขับเคลื่อนเป็น 12 กลุ่ม ส่วน WEF แบ่งการทำงานเป็น 14 ระบบ เช่น การบริโภค เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล พลังงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค การศึกษา การทำงานสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ถึงเวลาหรือยังที่ไทยจะลงมือจริงจัง ทำสิ่งที่จับต้องได้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค 4.0 ? วันนี้ทราบหรือยังว่าจะต้องรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างไร มีมาตรฐานกฎระเบียบการกำกับดูแลพร้อมหรือไม่ ? บุคลากรมีการพัฒนามากน้อยเพียงใด อย่าให้ประเทศไทย 4.0 เป็นแค่นโยบายสวยหรู แต่ไม่รู้ว่าชาวโลกเค้าคุยอะไรกันเมื่อพูดถึง 4.0 เลยค่ะ