ส่งออกไทย พ.ค. 64 พุ่ง 41.59% ลุย 5 แผนบุกตลาด

จุรินทร์ ประกาศ ส่งออกเดือนพฤษภาคมล่าสุดขยายตัวสูงถึง 41.59 % สูงสุดในรอบเกือบ 11 ปี สินค้าเกษตรไปได้ดีต่อเนื่อง “สั่งพาณิชย์ลุยเชิงรุกต่อด้วย 5 แผนบุกตลาด” 

วันที่ 24 มิถุนายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 714,885.27 ล้านบาท ขยายตัว 41.59% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี หากหักน้ำมัน ทองคำ ยุทธปัจจัยออกจะบวกถึง 45.87% การนำเข้า มีมูลค่า 22,261.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 63.54 ดุลการค้าเกินดุล 795.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ เมื่อดูการส่งออกรวม 5  เดือน(ม.ค.-พ.ค.2564) มีมูลค่า 108,635.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวรวมกัน 10.78% หากหักน้ำมัน ทองคำ ยุทธปัจจัยออกจะขยายตัว 17.13% การนำเข้า มีมูลค่า 107,141.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.52 ดุลการค้า 5 เดือนแรก เกินดุล 1,494.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกสำคัญมี 2 ข้อ คือ 1.เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะตลาดสำคัญเช่น สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นเป็นต้น และ 2.เพราะแผนการส่งออกและภาคปฏิบัติจริงที่กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนมาโดยต่อเนื่องและใกล้ชิดในช่วงที่ผ่านมาในรูป กรอ.พาณิชย์ ทำให้สามารถแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆได้รวดเร็วทันท่วงทีและมีการจัดทำแผนเชิงรุกร่วมกันในปี 2564 ที่มีเป้าหมายและรายละเอียดชัดเจนแต่ต้นทำให้ตัวเลขการส่งออกปีนี้ค่อยๆเป็นบวกตามลำดับ 

สำหรับตลาดสำคัญนั้นประกอบด้วย จีนสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เอเชียใต้อาเซียน เป็นต้น สินค้าที่สำคัญประกอบด้วยสินค้าเกษตรและอาหาร สำหรับอาหารเฉพาะผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งซึ่งกระทรวงพาณิชย์เร่งรัดแก้ไขปัญหาอุปสรรคบริเวณด่านชายแดนและด่านข้ามแดนเชิงรุกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งเป็นบวกถึง 31.9%โดยเฉพาะทุเรียนบวกถึง 95% และสินค้า Work from Home ผลิตภัณฑ์ป้องกันโควิด เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อาหารสัตว์เลี้ยงและรถยนต์ เป็นต้น

“สำหรับรถยนต์หลังจากที่ผมและกระทรวงพาณิชย์พยายามเจรจากับเวียดนามมาหลายครั้งตั้งแต่การประชุม RCEP และส่งผลให้ต่อมาเวียดนามปรับปรุงกฎระเบียบในการนำเข้ารถยนต์จากที่ต้องตรวจรถยนต์ที่นำเข้าจากไทยทุกล็อตที่ตรวจทั้งสองฝั่งเวียดนามยอมเปลี่ยนเป็นตรวจฝั่งใดฝั่งหนึ่งและสุ่มตรวจเท่านั้น ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามขยายตัวถึง 922% และส่งออกไปทั่วโลกขยายตัวถึง 170%”

อย่างไรก็ดี แผนงานที่กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าต่อไปประกอบด้วย 1.เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ให้มีผลทางภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยเร็วทั้งตลาดตะวันออกกลาง ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย ตลาดกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกา 2.รุกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนต่อเนื่องต่อไปโดยจะเร่งเปิดด่านซึ่งมีอยู่ 97 ด่านที่ปัจจุบันเปิดได้แค่ 45 ด่านให้เปิดด่านเพิ่มขึ้นเป้าหมายระยะสั้นเร่งเปิดให้ได้อย่างน้อยเพิ่มอีก 11 ด่าน วันที่ 9-11 กรกฎาคมนี้ตนจะเดินทางไปดูด่านบริเวณชายแดนลาวซึ่งถือเป็นด่านสำคัญที่จะทะลุไปเวียดนามและไปจีน เช่น ด่านปากแซง นาตาล ท่าเทียบเรือมุกดาหาร ท่าเทียบเรือนครพนม และท่าเทียบเรือหนองคาย เป็นต้น ที่จะเร่งรัดให้เปิดด่านเร็วขึ้น 3.เร่งส่งเสริมการส่งออกและการเจรจาการค้ารวมทั้งการทำสัญญาส่งสินค้าออกด้วยระบบออนไลน์ต่อไป และเมื่อไหร่ที่ทำระบบออฟไลน์เพิ่มขึ้นได้จะเร่งดำเนินการให้ผสมผสานในรูปแบบไฮบริด 4.เร่งรัดดำเนินการ MINI-FTA ทั้งกับไห่หนาน หรือมณฑลไหหลำของจีน รัฐเตลังคานาของอินเดีย เมืองคยองกีของเกาหลี หรือโคฟุของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้สัญญาณล่าสุดอาจลงนามได้ในช่วงสิงหาคม 5.เร่งสร้างแม่ทัพการค้าและแม่ทัพการส่งออกรุ่นใหม่ของไทยเพื่อเป็นอนาคตสำหรับการนำเงินเข้าประเทศต่อไปในเรื่องโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ซึ่งปีนี้มั่นใจว่าสร้างได้ครบ 12,000 คนทั่วประเทศแน่นอน

ด้านนายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า  การส่งออกของไทยขยายตัวทั้งในเรื่องมูลค่าสินค้าและการตลาดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกนั้นฟื้นตัวและประเทศคู่ค้าสำคัญ ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่หลายประเทศเริ่มมีอัตราลดลง ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้น สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์และทีม กรอ.พณ.จะได้กำหนดวันประชุมหารือร่วมภาครัฐกับเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากต้องเดินหน้าผลักดันการส่งออกโดยแก้ไขปัญหาตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่มเติมและผลักดันการลงนามความตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์ MRA ของอาเซียนตามนโยบายต่อไป 

สำหรับการส่งออกของไทยในระยะต่อไป คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น สะท้อนจาก (1) การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 5 ในเกือบทุกหมวดสินค้า (2) ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จึงเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน (3) การกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในแต่ละประเทศ ส่งเสริมความเชื่อมั่นในการบริโภค และส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทย

แผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 ยังคงดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และตามแผนงานของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีแผนงานโครงการสำคัญ อาทิ โครงการยี่ปั๊วออนไลน์ หรือ Online Resellers Connect ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SME และ Micro SME สามารถเจรจาธุรกิจ และส่งออกสินค้า ผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สินค้าของ SME และ Micro SME ไทยเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน การส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ ได้มีนโยบายให้เร่งเดินหน้ายกระดับการส่งออกสินค้าผลไม้ของไทยในตลาดจีน โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่สนใจของผู้บริโภคชาวจีนอย่างมาก และกระทรวงพาณิชย์จะเชิญชวนร้านค้าของจีนเข้ามาเป็นพันธมิตร เพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดร่วมกัน 

ทั้งนี้ ในปี 2564 กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าการเติบโตของการส่งออกสินค้าผลไม้อยู่ที่ 17% และได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์เร่งดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อให้มูลค่าการส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้