ครบรอบ 1 ปี สหรัฐ-จีนทำข้อตกลงการค้า ไทยแข่งขันได้ ส่งออกพุ่ง

สนค. เผยผลวิเคราะห์ผลการทำข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐ กับจีนครบรอบ 1 ปี พบจีนนำเข้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ถึงเป้าหมาย ส่วนไทยไม่ได้รับผลกระทบ เหตุสินค้าที่จีนตกลงนำเข้าจากสหรัฐ ไทยยังส่งออกได้เพิ่มขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมและเกษตร แนะปรับแผนรักษาตลาด เพิ่มส่วนแบ่งตลาด ใช้กลยุทธ์ออฟไลน์ ออนไลน์เจาะตลาด

วันที่ 25 มิถุนายน 2564 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงการติดตามความคืบหน้าการค้าสินค้าภายใต้ข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐ และจีน ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2563 หรือกว่า 1 ปี ว่า

จากการวิเคราะห์ข้อมูลการค้าปี 2563 พบว่าจีนนำเข้าสินค้าภายใต้ข้อตกลงจากสหรัฐเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.22 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 13.94 สูงกว่าอัตราการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าโดยรวมของจีนจากสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.41 แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายการนำเข้าที่กำหนด เนื่องจากจีนสามารถนำเข้าสินค้าได้เพียงร้อยละ 57.70 ของเป้าหมายปีแรกเท่านั้น โดยกลุ่มสินค้าที่จีนสามารถนำเข้าได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายปีแรกมากที่สุด คือ สินค้าเกษตร ร้อยละ 64.36 ของเป้าหมาย ตามด้วยสินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 59.68 และสินค้าพลังงาน ร้อยละ 39.14

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

และเมื่อพิจารณาในแต่ละกลุ่มสินค้า พบว่า ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม จีนบรรลุเป้าหมายเพียงสินค้าเดียว คือ เวชภัณฑ์ ขณะที่อากาศยานเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่จีนนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมายมากที่สุด ในกลุ่มสินค้าเกษตร จีนสามารถนำเข้ามากกว่าเป้าหมาย 3 รายการ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ธัญพืช และฝ้าย แต่ยังคงนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองต่ำกว่าเป้าหมายถึง 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับกลุ่มสินค้าพลังงาน จีนยังคงนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมายในทุกสินค้า

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐ ภายใต้ข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับจีน เทียบกับการส่งออกของไทยไปจีนในสินค้ากลุ่มเดียวกัน พบว่าจีนยังนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.40 โดยสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.81 และ 10.49 ตามลำดับ แต่นำเข้าสินค้าพลังงานจากไทยลดลงร้อยละ 36.55 จากแรงกดดันด้านราคาน้ำมันดิบที่ลดลงทั่วโลก และเมื่อพิจารณาสินค้าภายใต้ข้อตกลง 538 รายการ มีสินค้าที่ไทยแข่งขันได้ดีเยี่ยม 88 รายการ

เช่น เครื่องมือที่ใช้งานด้วยมือแบบนิวเมติก/แบบไฮดรอลิก/แบบมีมอเตอร์ รถยนต์และยานยนต์สำหรับขนส่งบุคคล ส้มสดหรือแห้ง เนื้อปลาแบบฟิลเล อำพันขี้ปลา ปลาแช่เย็นจนแข็ง บิวเทน ซึ่งจีนยังคงนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะนำเข้าจากโลกลดลง และสินค้าที่ไทยยังแข่งขันได้ดี 100 รายการ

เช่น คอมพิวเตอร์ วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด มันสำปะหลัง ผลไม้สด เช่น ทุเรียน ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการโดยรวมของจีนที่เพิ่มขึ้น โดยการนำเข้าสินค้าที่ไทยแข่งขันได้ดีเยี่ยมและดี ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจุบันจีนนำเข้าสินค้าสองกลุ่มนี้จากไทยเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 80 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าภายใต้ข้อตกลงทั้งหมด ที่จีนนำเข้าจากไทย สะท้อนว่าไทยสามารถใช้ศักยภาพในการส่งออกได้ดี

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าไทยส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ โดยจีนนำเข้าจากไทยลดลงในปี 2563 เช่น น้ำมันปิโตรเลียมดิบและน้ำมันดิบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เครื่องคำนวณและแสดงข้อมูลแบบพกพา น้ำตาลทราย โดยสินค้าเหล่านี้มีมูลค่า 1 ใน 5 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงทั้งหมดของจีนจากไทย ทั้งนี้ มีสินค้าหลายตัวในกลุ่มนี้ที่จีนกลับมานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 อาทิ เคมีภัณฑ์ (เช่น อะไซคลิกแอลกอฮอล์ อีพอกไซด์) เลนส์ ปริซึม กระจกเงา เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ตัวต้านทานไฟฟ้า เครื่องสำอาง/เสริมความงาม กุ้ง ปู สด/แช่เย็น/แช่แข็ง น้ำตาลทราย และพืชผักที่ปรุงแต่ง/ทำไว้ไม่ให้เสีย

นายภูสิตกล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2564 ไทยอาจเผชิญแรงกดดันจากการที่จีนต้องเร่งนำเข้าสินค้าสหรัฐในหลายกลุ่มสินค้า เนื่องจากในปีแรก จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐได้เพียงร้อยละ 57.70 ของเป้าหมาย ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันในตลาดจีนที่อาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐ ลดลงในปีที่ผ่านมา เช่น รถยนต์และยานยนต์สำหรับขนส่งบุคคล เครื่องพิมพ์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ผลิตภัณฑ์จากไม้บางชนิด ไซคลิกไฮโครคาร์บอน โทรศัพท์ มอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งจีนอาจต้องเร่งนำเข้าจากสหรัฐ มากขึ้นเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ ต้องติดตามสถานการณ์ระหว่างสหรัฐและจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนอยู่ระหว่างทบทวนนโยบายการค้าต่อจีน และให้ความสำคัญมากกับการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อตกลงระยะแรกของจีน ควบคู่ไปกับการประเมินผลจากการใช้/ยกเว้นมาตรการภาษีกับสินค้าจีนภายใต้สงครามการค้า โดยต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่านโยบายและท่าทีของสหรัฐต่อจีนในอนาคตจะเป็นอย่างไร

สำหรับแนวทางเชิงรุกในการขยายตลาดส่งออกไปจีน ในสินค้ากลุ่มที่ไทยสามารถแข่งขันได้ดีเยี่ยมและดี จะต้องส่งเสริมการส่งออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาหรือขยายส่วนแบ่งตลาดของไทย ส่วนสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทยลดลง ต้องพิจารณาถึงปัญหา อุปสรรค และหาสาเหตุ โดยต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น มุ่งเน้นจุดขายด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้าไทย เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ควบคู่กับการขยายการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอื่น ๆ และตลาดที่เติบโตสูง

ในปี 2564 นี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกไปตลาดจีนไว้มากมาย ทั้งในรูปแบบออฟไลน์ (การส่งเสริมการขายในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต) และออนไลน์ (การจับคู่ธุรกิจแบบออนไลน์ การส่งเสริมสินค้าไทยบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ เช่น Tmall, JD และ Taobao) ตลอดจนรูปแบบไฮบริด เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในรูปแบบ Mirror & Mirror  โดยเฉพาะสินค้าที่มีโอกาสสูง

เช่น ผลไม้ ยางพารา ข้าว สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าฮาลาล สินค้าสุขภาพและความงาม สินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนสินค้าและบริการอื่น ๆ เพื่อบุกตลาดเมืองรองและย่านเศรษฐกิจสำคัญ รวมทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และเร่งรัดการจัดทำ Mini FTA กับมณฑลไห่หนานของจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า และทำให้สินค้าไทยเข้าถึงตลาดที่มีจำนวนคนและกำลังซื้อมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐ และจีน ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 14 ก.พ. 2563 มีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงการขยายการค้าระหว่างสองประเทศ โดยจีนตกลงที่จะซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่าในปี 2560 ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในเวลา 2 ปี (1 ม.ค. 2563-31 ธ.ค. 2564)

ประกอบด้วย 1. สินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานพาหนะ 2. สินค้าเกษตร เช่น เมล็ดพืช น้ำมัน เนื้อสัตว์ อาหารทะเล 3. สินค้าพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และ 4. บริการ เช่น การท่องเที่ยว การประกันภัย และหลักทรัพย์ โดยเป้าหมายการค้าสินค้า (อุตสาหกรรม เกษตร พลังงาน) รวมเป็นมูลค่าราว 1.62 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 81 ของเป้าหมายการค้าทั้งหมด