ธุรกิจยอมเจ็บเคลียร์โควิด ซีลกรุงเทพ-ปริมณฑล ปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน

ปิดแคมป์คนงาน1เดือน
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

พิษโควิด-19 ไฟลามทุ่ง สถิติผู้ติดเชื้อพุ่งไม่หยุด กทม.วิกฤตเตียงขาด บิ๊กตู่เรียกถกด่วน เคาะไม่ล็อกดาวน์ งัดมาตรการเข้มบับเบิ้ล & ซีล กทม.-ปริมณฑล 3 ระดับ “ปิดพื้นที่เสี่ยง-คนเสี่ยง-กิจการเสี่ยง” ตั้งด่านควบคุมการเดินทาง ปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน บิ๊กธุรกิจขานรับ พร้อมให้ใช้ยาแรง “เจ็บแต่จบ” 5 สมาคม กลุ่มห้าง-ค้าปลีก-ภัตตาคาร ขอรัฐเยียวยาผลกระทบผู้ประกอบการพร้อมเร่งฉีดวัคซีนในคลัสเตอรืให้ครบ 100%

ยอดผู้ติดป่วยและผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกสาม ยังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่อัตราการครองเตียงทั้งในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลสนาม ใกล้เต็มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วย สร้างความวิตกกังวลให้กับหลายฝ่าย ขณะที่รัฐบาล รวมทั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กำลังพิจารณามาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดเข้มข้นขึ้น

“ประยุทธ์” เรียกหารือ

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 มิ.ย. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ได้เรียกประชุมทีมงานด้านสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือเร่งด่วน โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุข ศบค. เข้าร่วมหารือด้วย ประเด็นหลักที่ประชุมได้พิจารณาถึงความจำเป็นว่าต้องล็อกดาวน์ กทม.หรือไม่ โดยจะมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. นพ.ปิยะสกล พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.

สั่งถอยไม่ล็อกดาวน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปไม่ล็อกดาวน์กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ รวมถึง 4 จังหวัดภาคใต้ซึ่งประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา แต่จะมีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดออกมามากขึ้น เช่น การตั้งด่านตรวจโควิด และมาตรการบับเบิ้ล แอนด์ซีล และควบคุมการเดินทางของประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมถึงปิดแคมป์คนงานจำนวน 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

ผลการประชุมออกข้อกำหนดบังคับใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา 1 เรื่องการบริหารวัคซีน รัฐบลเจรจาเพิ่มเติม จัดหาเพิ่มเติม เตรียมแผนการฉีดให้ตรงกันเป้าหมาย ตามสถานการณ์ในปัจจุบัน ในช่วง 2 เดือน ก.ค.-ส.ค. จะเร่งฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายแรก คือ ผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคให้ครบทุกคน

2.การแพร่ระบาดขณะนี้ โดยมีข้อสรุป คือ ต้องปิดแคมป์ ระยะเวลา 1 เดือน เพื่อระงับการแพร่ระบาด และกระทรวงแรงงานจะเข้าไปดูแลค่าใช้จ่ายทั้งคนไทยและต่างด้าว โดยให้อยู่ในพื้นที่จำกัดเท่านั้น และโครงการของรัฐที่มีการจ้างงาน ให้สั่งหยุดชั่วคราว 1 เดือน และจะขยายเวลาให้ตามสัญญาต่อไป นอกจากนี้ให้ไปพิจารณาว่ากิจการใดมีความเสี่ยงต่อการติดโรค

“เราไม่ใช้คำว่า ปิดทั้งหมด แต่มีมาตรการเฉพาะออกมา เป็นการชั่วคราว เพื่อพิสูจน์ทราบในช่วงนี้ คำว่าล็อกดาวน์มันยิ่งใหญ่ เราใช้คำว่าปิดกิจการเป็นพื้นที่ เป็นคลัสเตอร์ ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ”

3.มาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายไปมาของบุคคลโดยออกมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งแต่ละจังหวัดมีมาตรการอยู่แล้ว โดยขอความร่วมมือในช่วงนี้

สำหรับมาตรการเข้มงวดมากขึ้นสามารถทำได้ทันที โดยอาศัยพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกอบข้อกำหนดตามมาตรา 9 ที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงาน เช่น ห้ามการเคลื่อนย้ายคนในพื้นที่ระบาดหนัก นอกจากนี้ นายกฯได้สั่งการไปยังศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กองทัพไทย แล้วให้เพิ่มกำลังทหารและตำรวจ โดยจะให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ล่วงหน้าไปก่อนเพื่อตั้งจุดตรวจคัดกรองในพื้นที่คลัสเตอร์-เขตระบาดหนัก เช่น ไซต์งานก่อนสร้าง จุดพักคนงาน โดย ศปม.จะหารือกับทาง กทม.ว่า จุดใดเป็นจุดล่อแหลมที่จะเกิดการระบาดหนัก

ก่อนหน้านั้นที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงแนวโน้มการล็อกดาวน์ กทม.ว่า ศปก.ศบค. ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. กำลังพิจารณาผลกระทบข้อดีข้อเสีย ตนยังไม่ยืนยันได้ว่าจะล็อกดาวน์หรือไม่ ต้องรับฟังข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เช่น กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการพิจารณาร่วมกันใน ศบค. ที่มีหลายกระทรวงเกี่ยวข้อง และต้องถามประชาชนด้วยว่าหากต้องปิดจะเดือดร้อนหรือไม่

“เราจะแน่ใจได้หรือไม่ว่า ปิดแล้วจบ ถ้าผมปิดแล้วไม่จบจะทำยังไง ผมกำลังพิจารณาว่า ถ้าเจ็บแล้วจบก็ควรทำ ถ้าเจ็บแล้วไม่จบจะทำยังไง อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกัน ผมไม่โทษใครทั้งนั้น แต่ทุกคนต้องมีจิตสำนึก” นายกฯกล่าว

ระดมเพิ่มเตียงรับวิกฤต

ขณะที่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่าสถานการณ์ขณะนี้มีความเป็นห่วง ทั้งการแพร่ระบาด เตียงรองรับผู้ป่วยที่ไม่เพียงพอ และด้านเศรษฐกิจ หากจะต้องล็อกดาวน์จะมีมาตรการเยียวยาอย่างไรที่จะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน จึงต้องดูให้รอบด้าน

ส่วนใหญ่การแพร่ระบาดเกิดที่ไซต์งานก่อสร้างและโรงงาน ส่วนจุดที่ประชาชนทำมาหากินทั่วไปยังพบไม่มาก ดังนั้นการพิจารณาต้องรอบคอบทุกด้าน ไม่ใช่รับฟังด้านใดด้านหนึ่ง และกระทรวงสาธารณสุขกังวลเรื่องเตียงรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ ซึ่ง ศปก.ศบค.ได้ประสาน กทม.และปริมณฑล กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มขีดความสามารถเรื่องเตียงให้มากขึ้น วันนี้สถานการณ์จำนวนเตียงคืบหน้ามาก เพราะมีเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุน จะใช้มณฑลทหารบกที่ 11 แจ้งวัฒนะ และที่โรงพยาบาลเอกชนเสนอมารับผู้ป่วยสีแดงที่อาการหนักประมาณ 50 เตียง และสีเหลือง 50 เตียง คาดว่าภายใน 7 วัน สถานการณ์จะคลี่คลาย

โดย 1-2 วันนี้ โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดินของโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ อาสารับผู้ป่วยไว้ส่วนหนึ่ง จะประสานส่วนอื่นเพิ่มเติม โดย นพ.ปิยะสกลกำลังหารือเพิ่มเติมในจุดอื่นด้วย นอกจากนี้จะประสานขอบุคลากรทางการแพทย์จากสาธารณสุขจังหวัด และกระทรวงกลาโหมเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาล ซึ่งนายกฯสั่งการไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อธิบดีกรมการแพทย์ได้รายงานข้อมูลการขยายเตียงของ กทม.และปริมณฑล ในรอบเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาต่อนายกฯ เพื่อขอขยายเตียงเพิ่มมาแล้ว 3 ช่วง สะท้อนว่าระบบสาธารณสุข ไม่อาจรับอัตราการขยายที่มากกว่านี้ได้อีกแล้ว ดังนี้ ครั้งที่ 1 วันที่ 9 เม.ย. เตียงระดับ 3 (สีแดง) จำนวน 211 เตียง เตียงระดับ 2 (สีเหลือง) จำนวน 1,357 เตียง และเตียงระดับ 1 (สีเขียว) 800 เตียง ครั้งที่ 2 วันที่ 1 พ.ค. เตียงระดับ 3 (สีแดง) 366 เตียง เตียงระดับ 2 (สีเหลือง) 2,263 เตียง และเตียงระดับ 1 (สีเขียว) 3,851 เตียง ครั้งที่ 3 วันที่ 22 มิ.ย. เตียงระดับ 3 (สีแดง) 437 เตียง เตียงระดับ 2 (สีเหลือง) 5,075 เตียง และเตียงระดับ 1 (สีเขียว) 5,896 เตียง

ตั้งกฎล็อกดาวน์ 3 ระดับ

สอดคล้องกับ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงผลการประชุม ศปก.ศบค.ว่า กรมควบคุมโรคเสนอล็อกเป็นจุด ๆ มีองค์ประกอบ 3 ส่วน 1.ปิดในส่วนพื้นที่ความเสี่ยงสูงให้ปิดเฉพาะพื้นที่นั้น 2.ปิดเฉพาะคนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าว และ 3.ปิดกิจกรรมและกิจการเสี่ยง มากกว่าปิดทั้งหมด หรือปิดทั้ง กทม. หรือทั้งจังหวัด ดังนั้นการปิดอาจไม่ใช่การตอบโจทย์ทั้งหมด ต้องหารือรอบด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่น ๆ ด้วย

“ต่างจังหวัดจะเห็นภาพชัดเจน แทนที่จะล็อกดาวทั้งจังหวัดก็หารือว่า ตำบลไหนเสี่ยง ตลาดไหน แคมป์คนงานอยู่ที่ไหน แรงงานต่างด้าวพื้นที่ไหนที่ยังมีการเดินทางข้ามพื้นที่ก็ล็อกตรงนั้น ยังมีการหารือกันว่า การล็อกดาวน์อาจจะไม่ใช่การแก้ไขปัญหา แต่เป็นการจุดชนวนให้เกิดปัญหามากขึ้นหรือไม่ เช่น การเดินทางกลับบ้านไปกระจายเชื้อหรือไม่”

5 สมาคมตั้งรับถ้าล็อกดาวน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดผู้ประกอบการ 5 สมาคม ประกอบด้วย คณะกรรมการค้าปลีกและบริการ หอการค้าไทย, สมาพันธ์ SME ไทย, สมาคมผู้ค้าปลีกไทย, สมาคมศูนย์การค้าไทย และสมาคมภัตตาคารไทย ได้ออกแถลงการณ์กรณีที่รัฐบาลเตรียมจะประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยระบุว่า ทั้ง 5 สมาคมมีแนวคิดและข้อเสนอแนะว่า การล็อกดาวน์เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีแผนปฏิบัติการเชิงรุกร่วมด้วย และต้องมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ช่วยค่าน้ำค่าไฟ เป็นเวลา 3 เดือน, ช่วยจ่ายค่าแรงงานที่ต้องว่างงาน และชดเชยรายได้ที่หายไป เป็นต้น

หากมีความจำเป็นต้องล็อกดาวน์กรุงเทพฯ ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบของระบบเศรษฐกิจทุกระดับและการจ้างงาน ทั้ง 5 สมาคมขอเสนอแนวทางในการล็อกดาวน์เป็น 3 ระดับ คือ 1.ล็อกดาวน์เป็นช่วงเวลา โดยกำหนดการเปิด-ปิดธุรกิจเหมือนช่วงหลังสงกรานต์ปี 2564 ที่ผ่านมา พร้อมเร่งแผนการนำเข้าและฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงและเร็วที่สุด และมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ

2.ล็อกดาวน์เป็นบางคลัสเตอร์ หรือบางจุดในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก โดยจำกัดการเคลื่อนย้ายประชาชนในพื้นที่ และเร่งฉีดวัคซีนในคลัสเตอร์ให้ครบ 100% พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในคลัสเตอร์นั้น ๆ
และ 3.ล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยงดการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่และปูพรมการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงโดยเร็วที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ถึง 14 วัน ถ้าสามารถเร่งการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯและปริมณฑลได้ 100% และยังคงต้องมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล

“กอบกาญจน์” แนะล็อกบางจุด

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในมุมมองส่วนตัวเห็นว่า หากจำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ก็ทำได้ แต่ต้องเป็นระยะสั้น และเฉพาะบางจุด เพราะถ้าบอกว่าพื้นที่กรุงเทพฯจะกว้างมาก ซึ่งการระบาดไม่ได้รุนแรงทั่วกรุงเทพฯ แต่เป็นเฉพาะบางพื้นที่ โดยเมื่อเห็นว่าจุดไหนระบาดหนัก ก็ไปเน้นที่จุดนั้นไปเลย เนื่องจากต้องบาลานซ์ระหว่างการป้องกันโรค กับการที่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไปด้วย นอกจากนี้ยังต้องสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน รวมถึงคนจะได้เชื่อมั่น มีความระมัดระวังการติดเชื้อแบบมีสติ ไม่ตื่นตระหนก อย่างไรก็ดี เชื่อว่าปัจจุบันประชาชนมีความระมัดระวังกันมากขึ้น เพราะต้องอยู่แบบนี้มาปีกว่าแล้ว

“ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็อาจจะต้องทำ แต่เราก็หวังว่าจะสั้น เพราะจริง ๆ แล้วควรจะเน้นที่เรื่องการฉีดวัคซีน” นางกอบกาญจน์กล่าว

หวั่นคลัสเตอร์ใหม่พุ่งพรวด

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เครือไทย โฮลดิงส์ (SEG) กล่าวว่า ในมุมมองส่วนส่วนตัวมองว่า หากดูจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน เฉลี่ย 3,000-4,000 คนต่อวัน และเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ เป็น 100 คลัสเตอร์ ซึ่งมีความเสี่ยงค่อนข้างมากที่อาจจะทำให้ระบบสาธารณสุขเข้าขั้นวิกฤตและรองรับไม่ไหว ซึ่งจะสร้างความเสียหายค่อนข้างมากต่อประเทศไทย

“หากล็อกดาวน์ทั่วทั้ง กทม.คงไม่น่าจะได้ แต่หากล็อกดาวน์เป็นจุด ๆ หรือจุดที่มีคลัสเตอร์น่าจะดีกว่า เพราะรัฐบาลและสาธารณสุขน่าจะมีข้อมูล เพื่อป้องกันยอดติดเชื้อให้ลดลง ดีกว่าปล่อยไม่ทำอะไร และเศรษฐกิจก็คงไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่านี้แล้ว” นายฐากรกล่าว

“พิพัฒน์” ขอแค่ไม่เคอร์ฟิว

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า แน่นอนว่าถ้ามีการล็อกดาวน์ ก็ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ามากขึ้น แต่ทุกวันนี้คนก็แทบไม่จับจ่ายกันอยู่แล้ว ขณะเดียวกันตอนนี้ต้องมาพิจารณากันว่า เมื่อระบบสาธารณสุขถึงขีดจำกัด โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ แม้ว่าในภาพรวมอาจจะมีบางจังหวัดที่รองรับได้ แต่การจะส่งผู้ป่วยไปรักษาก็คงลำบาก อย่างเช่น จะส่งผู้ป่วยจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ ก็คงทำไม่ได้ เป็นต้น ดังนั้นภาวะเช่นนี้ระบบเศรษฐกิจก็จำเป็นต้องช่วย อย่างไรก็ดี หากทำเพียงแค่สัปดาห์เดียวก็อาจจะไม่ครบวัฏจักรของโรค ซึ่งอาจจะคุมการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นไม่ได้

“ถ้าจะล็อกดาวน์ก็ต้องเป็นมาตรการเชิงพื้นที่ และเชิงความเสี่ยง โดยต้องไม่ใช่เคอร์ฟิวด้วย แต่อาจจะต้องงดกิจกรรมที่เอาคนมารวมกันมาก ๆ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อได้มาก หรือถ้ากิจกรรมไหนจำเป็นต้องทำแล้วสามารถมีมาตรการลดความเสี่ยงได้ เช่น ร้านอาหาร ไม่ให้นั่งกิน ก็ให้ซื้อกลับบ้านได้ เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากจนเกินไป นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกัน คือการตรวจโรค เพื่อกันคนที่ติดเชื้อกับคนที่มีความเสี่ยงออกจากระบบไป” ดร.พิพัฒน์กล่าว

โดยที่ผ่านมา การบอกว่าโรงพยาบาลที่ตรวจเจอให้รับรักษาไปด้วย ถือว่าเป็นความผิดพลาด เพราะเป็นการโยนภาระให้โรงพยาบาลที่ตรวจ ทำให้หลายโรงพยาบาลไม่ยอมรับตรวจ จึงทำให้การตรวจลดลงไป ทั้ง ๆ ที่การตรวจมีความสำคัญมาก

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลมีการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 ทั้ง ๆ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมนโยบายไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งทำให้เกิดการส่งสัญญาณที่สร้างความสับสนให้กับประชาชน

ทั้งหมดนี้มองว่า ประเด็นอยู่ที่ 1.เราต้องคุมสถานการณ์ในประเทศให้ได้ คือ การตรวจ แยกคนป่วยออกจากระบบ และวัคซีนที่สำคัญที่สุด เราบอกว่าจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสใน 1 ปี ก็ต้องวันละ 4.7 แสนโดส แต่วันนี้ฉีดได้แค่กว่า 1 แสนโดสต่อวัน แล้ววัคซีนก็ไม่มาสักที ผมว่านี่เป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งสร้างต้นทุนมหาศาล” ดร.พิพัฒน์กล่าว

พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการควบคุมโควิดวันนี้ต้องให้เกียรติรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะคนที่มีข้อมูลตัวเลขในมือซึ่งเป็นคนทราบดีว่าสถานการณ์มีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกัน นอกจากมาตรการล็อกดาวน์แล้วก็ต้องมีมาตรการคู่ขนานกันไปโดยมีความร่วมมือจากทุกฝ่าย รัฐบาลต้องนำเข้าและเร่งฉีดวัคซีน ส่วนภาคประชาชนก็ต้องขอความร่วมมือ มาตรการเว้นระยะห่าง ล้างมือ ไม่สังสรรค์เฮฮากัน ซึ่งเป็นเรื่องเดิม ๆ

“ผมเองไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ไม่มีความรู้ทางแพทย์ ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งเรามีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด และถ้าเรามีกำลัง ไม่ว่ากำลังทรัพย์ กำลังแรงกายที่จะช่วยกันไป เรื่องจิตอาสา เรื่องบริจาค เรื่องการให้ข้อคิด เราทำไปอย่างสร้างสรรค์ดีกว่า

ผมก็ทำของผมอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ผมว่ามีหลายปัจจัย เราต้องเชื่อบุคลากรทางการแพทย์ เราต้องมีความเชื่อหน่วยงานรัฐที่ออกกฎหมาย ซึ่งออกกฎมาอาจจะไม่พอใจ แต่ก็ต้องอยู่กันไป ต้องพยายามกันต่อไป”

สำคัญ-รัฐต้องมีเป้าชัดเจน

ส่วนคำถามว่าระยะเวลาควรทำสั้นหรือยาวแค่ไหนเพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจ นายเศรษฐากล่าวว่า ขึ้นกับปัญหามันใหญ่ขนาดไหน รัฐบาลตั้งเป้า (goal) ต้องการได้อะไร เช่น ผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 คน ผู้เสียชีวิตต่ำกว่าวันละ 10 คน แล้วมาติดตามผล 5-10-15 วัน สิ่งสำคัญคือต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน

นอกจากนี้ มีตัวเลขสำคัญที่สุดที่จะทำให้มีการว่างของเตียงในโรงพยาบาลเกิดขึ้นคือตัวเลขผู้หายป่วย ปัจจุบันสถิติผู้หายป่วยเฉลี่ยวันละ 1,000 ราย แต่ผู้ติดเชื้อใหม่ 3,000 ราย รัฐบาลทำยังไงให้ผู้หายป่วยมีมากกว่าผู้ติดเชื้อใหม่ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณที่ดี

ทั้งนี้ รัฐบาลประกาศ 120 วันเปิดประเทศ นโยบายนี้คงอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ระหว่างทางของ 120 วันย่อมมีขึ้นมีลง มีอัพแอนด์ดาวน์ มีคลัสเตอร์เกิดใหม่ซึ่งต้องบริหารจัดการกันไป

“ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ตื่นเต้นตกใจนะ ผมก็ตกใจแต่ว่าผมก็เป็นห่วง และมีความกังวลเรื่องสถานการณ์ แต่ว่ามันทำอะไรได้ล่ะครับ

ยอมรับความจริงกันไปและช่วยเหลือกันไปคนละไม้คนละมือ คนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็กไป ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ วัคซีน การเสียสละ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เรื่องจิตอาสา ตอนนี้เป็นอะไรที่ต้องระดมทุกภาคส่วน ต้องรอดไปด้วยกัน และจริง ๆ แล้วคนตัวเล็กต้องรอดก่อนด้วยเพราะกำลังเขาน้อยกว่าในการต่อสู้กับวิกฤต กำลังที่จะช่วยตัวเองของเขาน่าสงสาร วันนี้จิตอาสาสำคัญ วันนี้การเสียสละสำคัญ วันนี้การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์สำคัญ ยืนยันจริง ๆ ว่าใครไหวก็ต้องช่วยกัน” นายเศรษฐากล่าว

CPF จี้ระดมฉีดวัคซีน

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ซีอีโอ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญต้องวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริง ว่าปัญหาเกิดจากอะไร เช่น การขาดเตียง ผมมองว่าสิ่งสำคัญ รัฐควรหันมาระดมฉีดวัคซีนให้รวดเร็วเป็น piority แรกจะดีกว่า ต้องเปิดให้เอกชนนำเข้าให้เร็ว หรือรัฐบาลซื้อเพิ่มก็ควรเร่ง และนำไปเติมเต็มในพื้นที่ที่การแพร่ระบาดหนัก อย่างคลัสเตอร์ก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ขนาดซีพีเอฟเป็นโรงงานใหญ่ วางดูแลเรื่องนี้เข้มงวด ยังเกิดการติดเชื้อได้ใน จ.สระบุรี เพราะทั้งหมดมีต้นทุนค่าใช้จ่าย ดังนั้นต้องระดมยาลงไป

“ถ้าเป็นผมจะรีบระดมฉีดวัคซีนก่อน เราไม่ต้องรีบเปิดประเทศ รันในประเทศของเราก่อน ไปฉีดที่คลัสเตอร์ก่อสร้าง โรงงานก่อน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าตรงจุดที่สุด”

ในส่วนของซีพีเอฟยังรับจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตามที่บริษัทยื่นขอไปก่อนหน้านี้ 10,000 โดส แต่ส่วนตัวคิดว่าดีมานด์วัคซีนยังมีอีกมาก ดังนั้นควรเปิดนำเข้าเพิ่มอีกมากกว่า 1 ล้านโดส หรือ 2-5 ล้านโดส อาจให้เอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนนำเข้าก็ได้

“สุรพลฟู้ดส์” รับมือทุกด้าน

นายสุรพล ว่องวัฒนโรจน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สุรพลฟู้ดส์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้หลายฝ่ายกังวลจะเกิดระบาดระลอก 4 บริษัทได้มีมาตรการด้านความปลอดภัยทุกด้าน ถ้าเกิดเหตุที่ควบคุมไม่ได้ มีพนักงานติดเชื้อ ต้องรีบแยกจากกลุ่มเสี่ยงน้อย เพื่อให้กระบวนการผลิตเดินหน้าต่อไปได้

ปัจจุบันได้ติดต่อซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มแล้ว เพื่อฉีดพนักงานที่โรงงานสมุทรปราการช่วงแรก 30% ขณะนี้เจรจากับโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไว้เป็นจุดฉีดต่อไป