ค้าชายแดน-ผ่านแดน 5 เดือน ยอดพุ่ง 677,078 ล้าน เร่งเปิดอีก 11 ด่าน

การค้าชายแดน
แฟ้มภาพ

“จุรินทร์” เผยการค้าชายแดนและผ่านแดนยอดยังพุ่ง เดือน พ.ค. 2564 ทำได้สูงถึง 150,858 ล้านบาท เพิ่ม 38% ส่วนยอดรวม 5 เดือนปี 64 ทะลุ 677,078 ล้านบาท เพิ่ม 29.15% ขณะที่ปัญหาปิดด่าน อุปสรรคการค้าชายแดนพร้อมเร่งแก้ไข และขยายเปิดด่านเพิ่มอีก 11 จุด

วันที่ 29 มิถุนายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถิติการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเดือน พ.ค. 2564 มีมูลค่าสูงถึง 150,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% และเมื่อแยกการค้าชายแดนกับการค้าผ่านแดนออกจากกัน เป็นการค้าชายแดนมูลค่า 75,695 ล้านบาท เพิ่ม 4.17% การค้าผ่านแดนมูลค่า 75,163 ล้านบาท เพิ่ม 7.97% และในช่วง 5 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนมีมูลค่ารวม 677,078 ล้านบาท เพิ่ม 29.15% และการค้าชายแดนอย่างเดียว มูลค่า 371,040 ล้านบาท เพิ่ม 19.85% การค้าผ่านแดนมูลค่า 306,038 ล้านบาท เพิ่ม 42.57%

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ทั้งนี้ การค้าชายแดนแยกแต่ละประเทศพบว่า มาเลเซียมีมูลค่า 134,474 ล้านบาท เพิ่ม 53% สปป.ลาว มูลค่า 87,369 ล้านบาท เพิ่ม 13.30% เมียนมา มูลค่า 78,833 ล้านบาท เพิ่ม 6.9% กัมพูชา มูลค่า 70,364 ล้านบาท ลดลง 0.68% ส่วนการค้าผ่านแดน จีนมีมูลค่า 140,406 ล้านบาท เพิ่ม 54.85% เป็นบวกเยอะมากเกินกว่า 50% สิงคโปร์ มูลค่า 46,478 ล้านบาท เพิ่ม 28.74% เวียดนาม มูลค่า 28,586 ล้านบาท เพิ่ม 15.73%

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การค้าเป็นบวกก็คือ การจับมือทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนในรูป กรอ.พาณิชย์ โดยสามารถดำเนินการร่วมกันในการเร่งรัดการเปิดด่านจาก 97 ด่านที่ปิดลงไปเยอะ สามารถที่จะเปิดด่านได้ถึง 46 ด่าน และยังมีการเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาเชิงรุกในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อให้สินค้าที่จะข้ามแดนแต่ละประเทศสามารถผ่านไปได้โดยสะดวกรวดเร็วขึ้น แม้มีปัญหาอุปสรรคหลายประการ ก็สามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี และยังได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเริ่มฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น

นายจุรินทร์กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการค้าหรือเร่งรัดตัวเลขการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน กระทรวงพาณิชย์จะเร่งเปิดด่านเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้มีเป้าหมาย 11 ด่าน ตั้งเป้าให้เปิดได้เร็วที่สุดภายใต้ข้อจำกัดของโควิด-19 เพื่อให้การค้าเดินหน้าต่อไปได้ โดยที่เป็นรูปธรรมที่สุดวันที่ 1 ก.ค. 2564 ตนได้เรียนเชิญท่านทูต สปป.ลาวประจำประเทศไทย เข้ามาหารือที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาทางร่วมกันในการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย-สปป.ลาวและการค้าผ่านแดนระหว่างไทย-ลาว

นอกจากนี้ มีแผนที่จะลงพื้นที่ภาคอีสาน ช่วงวันที่ 9-11 ก.ค. 2564 มีจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น โดยที่จังหวัดอุบลราชธานี จะไปเร่งรัดการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เร่งรัดการเปิดด่านปากแซงนาตาล และแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นที่ด่านช่องเม็ก เป็นต้น

ขณะเดียวกันจะเร่งจับมือกับภาคเอกชนในนาม กรอ.พาณิชย์ ขจัดปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นเชิงรุกโดยเร็ว กำหนดจัดกิจกรรมช่วยเหลือผู้ส่งออกรายย่อย โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอีหรือไมโครเอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือแหล่งเงินกู้ที่จำเป็นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะจัดโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับเอสเอ็มอีส่งออก ในวันที่ 7 ก.ค. 2564 ที่จะถึงนี้ โดยจะแถลงรายละเอียดให้ทราบต่อไป

อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีปัญหาการปิดด่านจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย หรือด่านอื่น ๆ กระทรวงพาณิชย์ก็ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ส่วนจะกระทบการค้าชายแดน ผ่านแดนมากน้อยแค่ไหนยังไม่สามารถตอบได้ แต่ก็จะเร่งแก้ไขปัญหาเชิงรุกอย่างเต็มที่ ทั้งปัญหาเรื่องของการปิดด่าน การขนส่ง การข้ามแดน หากมีอุปสรรคก็พร้อมที่จะหารือแก้ไขร่วมกับทุกหน่วยงาน รวมไปถึงประเทศนั้น ๆ ด้วย

ซึ่งก็มีแผนที่จะหารือกันอยู่แล้วทั้งมาเลเซีย สปป.ลาว เป็นต้น หากแก้ไขเพื่อให้การค้าไปได้ก็จะทำ ส่วนปัญหาบางพื้นที่ที่มีโรงงานและติดปัญหาโควิด มองว่าเป็นเพียงเฉพาะพื้นที่ เฉพาะโรงงานแต่เชื่อว่าแก้ไขได้ ส่วนมูลค่าการค้าชายแดน เช่น กัมพูชา ลดลงแต่การค้ายังเดินหน้าได้ปกติ แต่ก็หวังว่าจะเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต ส่วนเป้าหมายการค้าชายแดนผ่านแดนก็ยังเหมือนเดิม

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ส่วนการเร่งรัดการดำเนินการส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ในกิจกรรมไฮบริดและกิจกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ในช่วงปัจจุบันมีอยู่ 3 งาน คือ งานที่หนึ่ง โครงการยี่ปั๊วออนไลน์คอนเนคซึ่งได้ดำเนินการในช่วง 24-28 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า ยี่ปั๊วชาวต่างประเทศมาซื้อสินค้าไทยเพื่อขายผ่านแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ของโลก

โดยสามารถทำให้มีมูลค่าการลงนามในสัญญาหรือการทำตัวเลขส่งออกถึง 288 ล้านบาท เกินกว่าเป้าเดิมที่กำหนดไว้แค่ 100 ล้านบาท มียี่ปั๊วต่างประเทศเข้ามาซื้อสินค้าไทยถึง 52 รายจากเดิมคาดว่าจะมี 20 ราย โดยยี่ปั๊วชาวต่างประเทศที่เข้ามาซื้อสินค้าไทยส่งออกผ่านแพลตฟอร์มก็ประกอบด้วย จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย เป็นต้น

งานที่สอง งานบางกอกเจมส์ ออนไลน์ ซึ่งเดิมตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีมูลค่าซื้อ-ขายในงาน 500 ล้านบาท แต่สามารถทำได้เกินเป้าเป็น 576 ล้านบาท สามารถจับคู่ลงนามในสัญญากันได้ 489 คู่ ผู้ส่งออกของไทยที่ประสบความสำเร็จในการทำสัญญาซื้อขายมี 317 ราย ชาวต่างประเทศ 368 บริษัทที่นำเข้าจาก 76 ประเทศ

งานที่สาม กิจกรรม MOVE ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเร่งรัดการส่งออกด้านมัลติมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ แอนิเมชั่น หรือว่าดิจิทัลคอนเทนต์ โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 5 ปี จะทำยอดส่งออกให้ได้ 1,500 ล้านบาท แต่เฉพาะในงานนี้สามารถลงนามในสัญญาซื้อขายธุรกิจบริการนี้ได้ถึง 1,586 ล้านบาท สามารถจับคู่การลงนามสัญญาได้ 359 คู่ ผู้ผลิตไทย 50 ราย ต่างประเทศ 80 รายจาก 17 ประเทศสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อาร์เจนตินา บราซิล เป็นต้น