ไทยนำกลุ่ม GSP Alliance ผลักดันสหรัฐต่ออายุสิทธิ GSP

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ในฐานะประธานกลุ่ม GSP Alliance ที่มีประเทศสมาชิกที่ได้รับสิทธิ GSP 27 ประเทศ ประชุมหารือในการดำเนินการแสดงเจตนารมณ์เพื่อให้รัฐสภาสหรัฐฯ ต่ออายุกฎหมายโครงการพิจารณาการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences: GSP) ที่กำลังจะหมดอายุ ในสิ้นปีนี้ออกไป
 
โดยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา สพต. ณ กรุงวอชิงตันได้จัดประชุมกลุ่ม GSP Alliance ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วมประชุม 20 ประเทศ โดยประเทศสมาชิกเห็นพ้องที่จะร่วมกันผลักดันให้สหรัฐฯ ต่ออายุโครงการ GSP ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2560 นี้โดยเร็ว ซึ่งประเทศสมาชิกจะร่วมกันลงนามในหนังสือ ถึงคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันการต่ออายุโครงการ GSP นอกจากนี้ ในวันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน นี้ ไทยจะเป็นผู้นำกลุ่ม GSP Alliance ในการพบหารือกับคณะกรรมาธิการ Senate Finance committee เพื่อให้ข้อเท็จจริงและโน้มน้าวให้พิจารณาต่ออายุสิทธิ GSP
 
นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ สพต.วอชิงตันได้เชิญนาย Erland Herfindahl Deputy Assistant USTR for GSP และประธานคณะอนุกรรมาธิการ GSP มาร่วมหารือและชี้แจงในประเด็นที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ประกาศเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาการให้สิทธิ GSP โดยจะมีการทำ Country assessment เพิ่มเติมในทุก 3 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธินี้ โดยในปีแรกจะเริ่มทบทวนประเทศในภูมิภาคเอเชียก่อนเป็นกลุ่มแรก และจะใช้เวลาในแต่ละประเทศประมาณ 1 ปี คาดว่าในขณะนี้มี 2 ประเทศในเอเชียที่ USTR ให้ความสนใจ คือ อินเดียและไทย
 
ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP สหรัฐฯ มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย โดยในปี 2559 ไทยใช้สิทธิ GSP มูลค่า 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ ร้อยละ 70 ของรายการสินค้า ที่ได้ GSP ซึ่งปัจจุบันไทยได้รับสิทธิ GSP ในสินค้ากว่า 3,400 รายการ อาทิ ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ ถุงมือทำจากยาง เป็นต้น
 
กลุ่ม GSP Alliance เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันตั้งแต่ปี 2554 ของประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 27 ประเทศ จากประเทศที่ได้รับสิทธิ 120 ประเทศ โดยมีไทยเป็นผู้นำ และมีการพบปะกันอยู่เสมอเพื่อร่วมมือกันให้ได้รับการต่ออายุสิทธิ GSP อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้าส่งออกได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้ามาในสหรัฐฯ และมีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากได้รับยกเว้นภาษีนำเข้า