คุมเข้มนำเข้ามันสำปะหลังเขมรสกัด “ไวรัสใบด่าง”

เอกชนตื่น!!! เตือนรัฐเร่งคุมเข้มนำเข้ามันสำปะหลังเพื่อนบ้าน สกัดการแพร่เชื้อไวรัสใบด่าง “คาซาวา โมซาอิก” จากเวียดนามสู่กัมพูชาลามถึงไทย หวั่นสร้างความเสียหายผลผลิต 80-100% กระทบวัตถุดิบส่งออก ด้านกรมวิชาการเผยยังไม่พบระบาดในไทย แนะอย่าวิตก พร้อมเพิ่มมาตรการป้องกันเข้มงวด

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมได้รับรายงานว่ามีการแพร่เชื้อไวรัส คาซาวา โมซาอิก ในมันสำปะหลังที่ประเทศเวียดนาม เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2560 สร้างความเสียหายให้กับผู้ปลูกมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก แม้ว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวจะยังไม่แพร่เชื้อกระจายมาสู่มันสำปะหลังไทย แต่เป็นเรื่องที่น่าห่วง

เพราะหากเชื้อไวรัสดังกล่าวแพร่ในมันสำปะหลัง จะส่งผลให้มันสำปะหลังเสียหาย และไม่สามารถนำมาปรับปรุง หรือนำมาผลิตเพื่อการส่งออกได้ โดยนักวิชาการแนะนำว่า จะต้องเผาทำลายทิ้งโดยทันที

โดยขณะนี้สมาคมได้มีการประชาสัมพันธ์ปัญหาดังกล่าวให้กับสมาชิกในสมาคม ทั้งผู้ปลูกและผู้ส่งออกให้ระมัดระวังเชื้อไวรัสดังกล่าวให้มาก โดยเฉพาะผู้นำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจจะนำเชื้อไวรัสดังกล่าวเข้ามาแพร่สู่มันสำปะหลังภายในประเทศได้

“ส่วนใหญ่ไทยมีการนำเข้ามันสำปะหลังจาก 2 ประเทศหลัก คือ สปป.ลาว และกัมพูชา ประมาณ 10 ล้านตันต่อปี ไม่มีการนำเข้ามันสำปะหลังจากเวียดนาม และล่าสุดเชื้อไวรัสนี้ได้กระจายมาสู่มันสำปะหลังของกัมพูชาแล้ว จึงน่าเป็นห่วง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานที่ชัดเจนว่า ได้แพร่เชื้อกระจายมากน้อยแค่ไหนในกัมพูชา ยังอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้าจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าจากบริเวณชายแดน ต้องตรวจใบอนุญาตนำเข้า การตรวจสอบโรคพืช เป็นต้น เพื่อป้องกันปัญหาการแพร่เชื้อไวรัส และที่สำคัญ ควรต้องเข้มงวดเพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้า ซึ่งอาจจะทำให้เชื้อนี้แพร่กระจายได้

นายบุญชัยกล่าวว่า เบื้องต้นได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมการค้าต่างประเทศ ในการเข้มงวดเรื่องของการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการป้องกันปัญหา และจะได้ตรวจสอบได้อย่างถูกต้อง ก่อนมีการนำมันสำปะหลังเข้ามาภายในประเทศไทย

จากการคาดการณ์ผลผลิตมันสำปะหลังในฤดูการผลิต 2560/2561 คาดจะมีผลผลิตออกในช่วงเดือนธันวาคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งผลผลิตออกล่าช้ากว่าทุกปี

เนื่องจากปัญหาฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ปลูกชะลอการขุดออกไป เพื่อจะได้ผลผลิตในราคาที่ดี โดยประเมินผลผลิตจะลดลง 10% จากที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 28 ล้านตัน ส่วนตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะมันเส้นและแป้งมัน ยังเป็นตลาดจีน และคาดว่าจะมีการนำเข้ามากขึ้น ตามความต้องการภายในประเทศในการผลิตเอทานอล

นางณัฏฐิมา โฆสิตเจริญกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการระบาดเชื้อไวรัส ศรีลังกา คาซาวา โมซาอิก ไวรัส หรือโรคใบด่างในมันสำปะหลัง ในประเทศกัมพูชา และเวียดนาม แต่ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการแพร่ระบาดในประเทศไทย จึงไม่ต้องการให้ผู้ส่งออกหรือเกษตรกรเป็นกังวลในปัญหาของโรคนี้

แต่กรมได้ประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกร และผู้ส่งออก ให้ระมัดระวังการแพร่เชื้อไวรัสดังกล่าวในมันสำปะหลัง หากพบให้รายงานและแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันการระบาดในมันสำปะหลัง เพราะหากได้รับเชื้อไวรัสจะทำให้เกิดความเสียหายถึง 80-100% ของผลผลิต

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในประเทศไทย เช่น การเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้ามันสำปะหลังตามแนวชายแดน พร้อมเฝ้าระวังสำหรับพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังตามแนวชายแดน และหากพบว่ามีการลักลอบนำเข้าท่อนพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์ มีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติกักพืช ห้ามนำเข้า ยกเว้นหัวมันสดและมันเส้น

นางณัฏฐิมากล่าวต่อไปว่า กรมอยู่ระหว่างดำเนินการตามโครงการวิจัย “การศึกษาสถานภาพโรคใบด่างของมันสำปะหลังศัตรูพืชกักกันในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย” ของกรมวิชาการเกษตร ปีงบประมาณ 2561-2563 ด้วย และจัดทำแผนปฏิบัติงานฉุกเฉินกรณีตรวจพบโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้กำหนดให้โรคใบด่างเป็นศัตรูพืชกักกันตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดศัตรูพืชเป็นสิ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2550

สำหรับเชื้อไวรัส คาซาวา โมซาอิก มักจะเกิดการแพร่ระบาดในทวีปเอเชีย กลุ่มประเทศศรีลังกา อินเดีย และแอฟริกา สำหรับการแพร่เชื้อนั้นมาจากแมลงหวี่ขาว มาจากพืชต่าง ๆ เป็นพาหะของการแพร่เชื้อสู่ใบมันสำปะหลัง และติดมากับการลักลอบนำเข้ามันสำปะหลังโดยไม่ถูกตรวจสอบโรคพืช