อำนวย เอื้ออารีมิตร ชูโรดแมปรวมกิจการทางรอดปลาป่น

ในห้วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมประมงของไทยต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาของประเทศคู่ค้า ทั้งสหรัฐเรื่องการค้ามนุษย์โดยจัดอันดับให้ไทยอยู่ในบัญชี Tier 2 Watch List ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศให้ “ใบเหลือง” ว่า ไทยมีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) จนถึงปัจจุบัน ได้

ส่งผลกระทบอย่างหนักกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างโรงงานปลาป่น ซึ่ง “อำนวย เอื้ออารีมิตร” นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยคนใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” สะท้อนปัญหาและทิศทางที่จะก้าวไปข้างหน้า

Q : ภาพรวมธุรกิจปลาป่นวันนี้

วันนี้ธุรกิจโรงงานปลาป่นอยู่ในช่วงขาลงเหมือนอุตสาหกรรมประมง IUU เป็นสาเหตุหลัก มีการจัดระเบียบเรือประมงออกจับปลาได้เพียง 10,000 กว่าลำ

ส่งผลให้จับปลาได้ลดลง ปริมาณผลผลิตปลาป่นเคยผลิตได้มากสุดกว่า 5 แสนตัน ทยอยลดลงตั้งแต่ปี 2557 มีปริมาณ 478,094 ตัน ปี 2558 มีปริมาณ 381,358 ตัน ปี 2559 มีปริมาณ 313,950 ตัน และคาดว่าสิ้นปี 2560 ลดเหลือ 280,000 ตัน โดยสัดส่วนของวัตถุดิบที่เข้าสู่กระบวนการผลิต 100% แบ่งเป็นปลาที่จับโดยเรือประมงไทย 32% เศษซากจากโรงงานปลากระป๋องที่นำเข้าจากต่างประเทศ (ซาร์ดีน/ทูน่า/ซูริมิ/ปลาน้ำจืดเลี้ยง) 68% ทั้งนี้ ปลาเศษซากลดปริมาณลงเช่นกัน เนื่องจากมีปลานำเข้าบางส่วนมาจากแหล่งที่ไม่มีเอกสารชัดเจนเช่นกัน

Q : ส่งออกปลาป่นลดลงเท่าตัว

ปริมาณผลผลิตปลาป่น 280,000 ตัน แบ่งเป็นการขายภายในประเทศ 1.8 แสนตันต่อปี ที่เหลือส่งออกโดยตัวเลข 9 เดือนส่งออก 90,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,500 กว่าล้านบาท ถือว่าลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2558 ส่งออกได้ 159,504.42 ตัน ปี 2559 ส่งออกได้ 157,564.35 ตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออกประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท เนื่องจากราคาภายในเป็นตัวนำการส่งออก

เมื่อวัตถุดิบน้อย ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูง ราคาปลาป่นไทยสูง สู้คู่แข่งไม่ได้ ในอดีตไทยเคยส่งเข้าตลาดจีน อันดับ 3 ปี 2560 ลดลงมาอยู่อันดับ 7 ส่วนเวียดนามจากที่เคยส่งเข้าจีน เป็นอันดับ 4 ตอนนี้ขึ้นมาเป็นอันดับ 2

2 ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้ประโยชน์มากจากการที่ไทยโดนใบเหลือง IUU ทำให้มีเรือประมงเวียดนามมาลักลอบจับปลาในบ้านเรา และการที่เวียดนามเปิดเสรีให้นำเข้าปลาป่นไม่เสียภาษี ทำให้ปลาป่นจากหลายประเทศ เช่น แอฟริกา อินเดีย อเมริกาใต้ ไหลเข้าไปแปลงสัญชาติที่เวียดนาม และส่งเข้าจีน เนื่องจากจีนกีดกันการนำเข้าปลาป่นพอสมควร

ผู้ส่งออกต้องมีใบอนุญาต และโรงงานต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่จีนแล้วถึงได้รับใบอนุญาตให้ส่งเข้าไปได้ ทำให้ตัวเลขการส่งออกปลาป่นของเวียดนามเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ไทยลดลง

Q : สวนทางปลาป่นนำเข้าเพิ่ม

ปัจจุบันมีโรงงานผลิตอาหารกุ้งไทยรายใหญ่ 2-3 ราย หันไปนำเข้าปลาป่นจากเวียดนาม ซึ่งมีราคาถูกกว่าไทย และมีภาษีนำเข้า 0% สิ่งที่เรากังวลคือ วันนี้ปริมาณปลาป่นนำเข้าสูสีกับปลาป่นส่งออก เห็นได้จากตัวเลขการส่งออก 8 เดือนปี 2560 อยู่ที่ 67,400 ตัน

ปริมาณนำเข้าอยู่ที่ 45,335.87 ตัน ห่างกันนิดเดียว ดูแนวโน้มจะเป็นอย่างนี้ต่อไป เพราะราคาภายในยืนสูงตามดีมานด์และซัพพลาย โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากเวียดนาม เมียนมา

ภาษี 0% แม้กระทรวงพาณิชย์มีข้อกำหนดว่า ปลาป่นที่จะนำเข้าต้อง 60% โปรตีน ยิ่งทำให้ปลาป่นโปรตีนต่ำขาดแคลน ขณะที่ปลาป่นโปรตีนสูงส่งออกไม่ได้เพราะราคาสูง จึงเปิดช่องให้โรงงานอาหารสัตว์นำเข้ามาได้

Q : สถานะของโรงงานปลาป่น

ตอนนี้มีโรงงานปลาป่นที่เป็นสมาชิกของสมาคม 82 โรงงาน มีที่ยังทำงาน 70 กว่าโรง แต่มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมี 30 โรง มีกำลังการผลิตได้ 10-30% ของกำลังการผลิต ส่วนที่เหลืออีก 20 โรง มีกำลังการผลิตได้ 30-50% ส่วนที่เหลือไม่กระทบมาก เพราะมีเศษซากจากโรงงานปลากระป๋องของตัวเอง ทำให้มีวัตถุดิบสม่ำเสมอ วันนี้ถ้า 72 โรง มีกำลังการผลิตเครื่องจักรเฉลี่ย 120 ตันต่อวัน สมมุติ 1 ปีทำงาน 200 วัน จะต้องมีปลาสด 1,100,000 ตัน ที่จะทำให้เดินเครื่องได้ทุกวัน แต่มีวัตถุดิบให้ผลิตเพียง 7-8 แสนตันต่อวัน กำลังการผลิตเหลือ 40% ของกำลังการผลิตรวมทั้งระบบ โรงงานผลิตน้อยต้นทุนต่อหน่วยแพงขึ้น จากปกติต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 8 บาทต่อ กก. ตอนนี้เฉลี่ยต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 10-12 บาทต่อ กก. ราคาปลาสดยืนอยู่ที่ 8-10 บาทต่อ กก. แล้วแต่ชนิดปลา ความสด หากรวมค่าการผลิตต่าง ๆ แล้วเท่ากับต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 42 บาท แต่เทียบกับราคาขายเฉลี่ยตอนนี้ประมาณ 33-40 บาทต่อ กก.

Q : นโยบายของนายกคนใหม่

ในรอบ 2 ปีที่ผมเป็นนายก ต้องหาทางให้ทุกคนมารวมกัน เพื่อความอยู่รอด ต้องไม่ซื้อปลาราคาสูง ไม่ซื้อปลาข้ามเขต หรือใช้โรดแมปของเปรู และจีน ด้วยการลดจำนวนโรงงานลง เพื่อให้แมตชิ่งกับวัตถุดิบที่มี ยกตัวอย่างเปรูเมื่อ 40 ปีก่อน มีปัญหาการแย่งซื้อวัตถุดิบ ส่งผลให้ 1.วัตถุดิบแพง 2.วัตถุดิบน้อย ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูง 3.ราคาขายถูก 4.กิจการถูกธนาคารยึด และธนาคารหาผู้ลงทุนมารวมกัน ปัจจุบันเหลือโรงงานขนาดใหญ่ 15 โรง โดยโรงใหญ่สุดมีกำลังการผลิตเป็นแสนตัน

ส่วนโรดแมปของจีน รัฐบาลพยายามออกกฎควบคุมเข้มเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าโรงงานใดทำไม่ได้ ไม่ออกใบอนุญาตให้ จากโรงงานปลาป่น 200 โรง เหลือ 50-60 โรง และปัจจุบันเหลือ 30 โรง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจปลาป่นไทยทำต่อเนื่องมา 30 ปีแล้ว ทุกคนไม่ถึงกับล้ม เพราะมีกิจการเกี่ยวเนื่อง พอหยุดทำโรงงานปลาป่น ย้ายคนงานไปทำส่วนอื่น มีหนทางไปได้ เพียงแต่หาลูกหลานมาทำแทนไม่ได้ กิจการขาลงทำแบบประคองไป

Q : แนวทางการรวมกันของไทย

น่าจะนำโรดแมปเปรู และจีนมาใช้ เดือนนี้ผมและคณะกรรมการสมาคมจะเริ่มเดินสายคุยใน 4 จังหวัดภาคใต้ก่อน ได้แก่ ชุมพร ปัจจุบันมีโรงงานปลาป่น 7-8 โรง, ระนอง 9-10 โรง, นครศรีธรรมราช 8-9 โรง และปัตตานี 4 โรง เท่าที่เคยหารือกัน ชุมพรน่าจะเป็นโรดแมปก่อน อาจจะให้เหลือโรงงานปลาป่น 1-2 โรงในแต่ละจังหวัด ยังไม่ได้ลงรายละเอียดกัน ขณะเดียวกัน ผมจะเริ่มคุยกับผู้ส่งออกไทย 12 โรง เพราะปัจจุบันยังแย่งกันขาย ตัดราคากันเอง ผมเห็นว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการเดียวที่จะอยู่ได้ ภาครัฐเองต้องมีส่วนเข้ามาช่วย

Q : หาปลาเลี้ยงแทนจับจากทะเล

การเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติมีส่วน ทรัพยากรทางทะเลมีวันหมด อย่างเปรูเองเคยจับได้ 6 ล้านตัน เหลือ 4 ล้านตัน ดังนั้นทางสมาคมคงต้องไปคุยกับกรมประมงว่า พอจะมีทางพัฒนาพันธุ์ปลาทะเลที่โตเร็ว และใช้การเลี้ยงแทนการจับจากทะเล เพื่อมาเป็นวัตถุดิบให้โรงงานปลาป่นในราคาไม่แพง ให้คนเลี้ยงอยู่ได้ แต่ปลาที่เลี้ยงต้องดูโปรตีนพอหรือไม่ ปัจจุบันจีน ไต้หวัน ส่งเสริมการเลี้ยงปลาทะเลโดยใช้บ่อกุ้งเก่ามาเลี้ยง บ้านเรายังเลี้ยงน้อย หรืออย่างเวียดนามส่งเสริมการเลี้ยงปลาบาซา

Q : การวิจัยวัตถุดิบอื่นแทนปลาป่น

ได้ยินว่ามีหลายบริษัททั้งในและต่างประเทศทำกันอยู่ แต่ยังไม่มีวัตถุดิบตัวไหนแทนในเรื่องกลิ่นปลาป่นได้