“เวิลด์แก๊ส” บุกตลาด CLMV ค้าส่งก๊าซแอลพีจีเมียนมา

ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ หนีตลาดในประเทศซบเซา จับมือโรงกลั่นน้ำมัน ทดลองค้าส่งก๊าซ LPG 70 ตันไปเมียนมา เล็งอนาคตจับมือพันธมิตรนำเข้าก๊าซเอง หากต้นทุนถูกกว่าซื้อในประเทศ 

นายนพวงศ์ โอมาธิกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP Energy เจ้าของแบรนด์เวิลด์แก๊ส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังจาก

ที่ตลาดค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในประเทศซบเซา โดยเฉพาะการจำหน่ายในภาคขนส่งที่ยอดขายลดลงต่อเนื่องถึงร้อยละ 10 เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงอย่างมาก อยู่ที่

ระดับ 50-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ผู้บริโภคหันไปเติมน้ำมันแทนมากขึ้นนั้น จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้บริษัทดับบลิวพีฯต้องขยายตลาดไปยังเพื่อนบ้านมากขึ้น เช่น ประเทศในกลุ่ม CLMV โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ เริ่ม “ทดลอง” ค้าส่งก๊าซ LPG ไปยังประเทศเมียนมา เพื่อรองรับความต้องการ สำหรับปริมาณก๊าซ LPG ที่เริ่มส่งออกประมาณ 60-70 ตัน ซึ่งใช้รถบรรทุกของบริษัทดับบลิวพีฯที่ได้มาตรฐาน โดยมีต้นทางการขนส่งคือจากโรงกลั่นน้ำมันในภาคตะวันออก ไปจนถึงผู้ใช้ปลายทางที่ประเทศเมียนมา

ทั้งนี้ การทดลองส่งออกทำให้รู้ว่าต้องบริหารต้นทุนการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างวิธีการเพื่อให้ใช้ประโยชน์ระบบขนส่งให้คุ้มค่า เช่น ในระหว่างทางอาจเพิ่มการขนส่งระหว่างจังหวัด โดยอาจจะรับก๊าซ LPG จากคลังในจังหวัดขอนแก่นไปยังจังหวัดอื่น ๆ เป็นต้น สำหรับตลาดก๊าซ LPG ในเมียนมา มองเป็นโอกาสและจุดเริ่มต้นที่ดี และเชื่อมั่นว่า ในอนาคตบริษัทดับบลิวพีฯจะสามารถขยายไปยังประเทศอื่นได้อีก ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว เวียดนาม

“ต้องหาตลาดเพิ่ม ในประเทศเพื่อนบ้านเรามองเป็นโอกาสทั้งหมด เพราะคาดการณ์ว่าประเทศในกลุ่ม CLMV เศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างขยายตัว ฉะนั้นความต้องการใช้พลังงานก็จะปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน”

นายนพวงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทดับบลิวพีฯอยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ 3 เรื่อง คือ 1) ศึกษาการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การลงทุนสร้างโรงงานผลิตถังก๊าซ LPG เอง 2) การใช้ประโยชน์คลังก๊าซในภูมิภาคร่วมกับพันธมิตรเพื่อลดต้นทุน เช่น ในบางพื้นที่บริษัทดับบลิวพีฯอาจจะไม่มีคลังก๊าซ ในขณะเดียวกันพันธมิตรก็อาจจะไม่มีคลังในบางพื้นที่เช่นกัน ก็สามารถมาใช้

ประโยชน์จากคลังร่วมกันได้ และ 3) ศึกษาการนำเข้าก๊าซเองในอนาคต ตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่เปิดเสรีการนำเข้าก๊าซ LPG โดยได้เริ่มหารือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศแล้ว ซึ่งในกรณีที่คำนวณแล้วพบว่าการนำเข้าจากต่างประเทศได้ราคาต่ำกว่าการซื้อในประเทศจึงจะพิจารณาอีกครั้ง