จี้รัฐเตรียมรับข้าวโพด’64 ทะลัก 5 ล้านตัน

ข้าวโพด

แรงงานตกงานแห่ปลูกข้าวโพด ส.การค้าพืชไร่ กระทุ้งรัฐ เตรียมรับมือผลผลิตข้าวโพดปี’64/65 ทะลุ 5 ล้านตัน ซ้ำวัตถุดิบนำเข้าถล่มไทยกว่า 2 ล้านตัน ฉุดราคาชาวไร่ดิ่ง คาดรัฐชดเชยอ่วมแน่

นายพรเทพ ปู่ประเสริฐ นายกสมาคมการค้าพืชไร่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าภายใน ขอให้พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์แบบเป็นธรรมและยั่งยืน (ระยะสั้นและระยะยาว)

เพราะจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ว่าการเพาะปลูกข้าวโพดปี 2564/2565 กว่า 5 ล้านตันจากปีที่ผ่านมาที่มี 4.8 ล้านตัน เป็นผลจากการที่เกษตรกรที่ถูกเลิกจ้างจากภาคอุตสาหกรรมกลับมา จึงทำให้มีพื้นที่การเพาะปลูกเพิ่มขึ้น

ประกอบกับในเดือน ม.ค.-พ.ค.ปี 2564 มีการนำเข้าวัตถุดิบข้าวบาร์เลย์มากกว่า 672,000 ตัน และมีการนำเข้าข้าวโพดประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่เดือน ก.พ.-พ.ค.มากกว่า 1.3 ล้านตันมาใช้แทนข้าวโพด

ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาข้าวโพดของไทยที่กำลังจะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน ก.ค. ไปพีกสูงสุดในเดือน ต.ค.-พ.ย. 2564

ทางสมาคมฯ จึงขอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่ยังคงค้างคามาหลายปีอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย

1.ขอผลการตรวจสอบปริมาณการนำเข้าข้าวสาลีกับปริมาณการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศของคณะทำงานที่ได้แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

2.ขอให้พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ กากข้าวโพด) ภายในและภายนอกประเทศอย่างเป็นระบบ

3.ขอให้พิจารณาแนวทางการกำหนดกรอบภาษีอากรนำเข้า (import tax) กลับมาใช้ เพื่อสร้างสมดุลและความเป็นธรรมในการแข่งขันของภาคการเกษตร และลดการสิ้นเปลืองงบประมาณในการชดเชยโครงการประกันรายได้

เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 4.ขอให้พิจารณาแนวทางการใช้วัตถุดิบในประเทศที่มีปริมาณเกินความต้องการเป็นลำดับแรก เช่น ข้าว ปลายข้าว มันสำปะหลัง

และ 5.การประชุมยุทธศาสตร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกครั้งให้ใช้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นศูนย์กลางเป็นหลัก เพื่อทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับสถานการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2564 ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลาดโลกสูงถึง กก.ละ 9.37 บาท รวมถึงราคาข้าวโพดในประเทศกัมพูชาและเวียดนามสูงกว่าราคาหน้าโรงงานในประเทศไทย

แต่ในทางตรงกันข้าม ราคาในประเทศไทยยังคง “ต่ำ” กว่าราคาที่รัฐบาลประกันรายได้ให้เกษตรกร กก.ละ 8.50 บาท ภาครัฐต้องเสียเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชนเพื่อจ่ายเงินประกันรายได้ ทั้งที่เกษตรกรที่ปลูกหลังนาได้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นอกฤดูควรจะขายได้ในราคาสูงกว่าในฤดู

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่านับจากปี 2550 ที่กระทรวงการคลังได้ปรับแก้ไขภาษีนำเข้าข้าวสาลีจาก 27% ลดลงเหลือ 0 (ศูนย์) % โดยได้อนุญาตให้นำเข้าข้าวสาลีมาเป็นวัตถุดิบทดแทนสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์

โดยใช้มาตรการ 3 : 1 (ใช้ข้าวโพดที่ผลิตในราชอาณาจักรไทย 3 ส่วน เพื่อแลกการนำเข้าข้าวสาลีอาหารสัตว์ได้ 1 ส่วน) แต่ก็มีปริมาณการนำเข้าข้าวสาลีเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี

และยังมีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่นเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2563 มีปริมาณการนำเข้าข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ กากข้าวโพด (DDGS) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมกว่า 4.066 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 32,772 ล้านบาท

ผลกระทบที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา นอกจากผลกระทบไทยจะเสียดุลการค้าแล้วยังส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ “ตกต่ำ” อย่างต่อเนื่อง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดขาดทุน

และมีหนี้สะสมต่อเนื่อง เพราะไม่เพียงมีสินค้ามาแข่ง แต่จากต้นทุนในการผลิตก็สูงขึ้นทั้งนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ปัญหาราคาปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลงและวัชพืช น้ำมัน ได้ปรับฐานราคาสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนอย่างมาก

ล่าสุดในปี 2563 สถิตินำเข้ากากข้าวโพด (DDGS) ในปี 2563 มีปริมาณ 0.630 ล้านตัน ข้าวบาร์เลย์อาหารสัตว์ 0.794 ล้านตัน และเพียง 5 เดือนแรกของปี 2564 นำเข้ามาแล้ว 0.672 ล้าน คิดเป็น 84.63 ของปี 2563

เป็นการนำเข้าเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการ 3 : 1 ที่ครอบคลุมเฉพาะข้าวสาลี ขณะที่มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านแบบปลอดภาษีอากรปี 2563 ปริมาณ 1.59 ล้านตัน และ ก.พ.-พ.ค. 64 มีปริมาณ 1.3 ล้านตัน

“ปี 2563 เมื่อรวมตัวเลขทั้งหมดคือข้าวโพดที่ผลิตได้ 4.8 ล้านตัน และวัตถุดิบนำเข้าทั้ง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพดเพื่อนบ้านอีก 4.56 ล้านตัน รวมแล้ว 9.6 ล้านตัน

สะท้อนว่าปริมาณวัตถุดิบที่มีในประเทศล้น จนเกินความต้องการของโรงงานอาหารสัตว์ที่มี 8.44 ล้านตัน ทำให้มีบางโรงงานหยุดการรับซื้อเป็นช่วง ๆ ขัดแย้งกับข้อมูลที่กล่าวอ้างว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทนข้าวโพด ที่ผลิตในประเทศไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานอาหารสัตว์”

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมวัตถุดิบที่ผลิตภายในประเทศมหาศาล ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ที่ให้สารคาร์โบไฮเดรตทดแทนได้ หากมีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ จะช่วยสร้างเสถียรภาพทางราคาสินค้าเกษตรทุกอย่างไม่เพียงเฉพาะข้าวโพด

และยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า สร้างการกระจายรายได้ และสร้างมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากกว่าการนำเข้าวัตถุดิบทดแทน และยังช่วยรัฐไม่ต้องเสียงบประมาณชดเชยประกันรายได้

นอกจากนี้ ข้าวโพดของไทยยังต้องไปแข่งขันกับประเทศที่อนุญาตให้มีการใช้การปลูกแบบ GMO หรือแม้แต่วัตถุดิบนำเข้าจากประเทศที่ยังอนุญาตให้ใช้สารเคมี อย่างยาฆ่าหญ้าพาราควอต ซึ่งไทยห้ามใช้แต่คู่แข่งใช้ ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวโพด มีภาระต้นทุนการผลิตและต้นทุนผลผลิตต่อกิโลกรัมที่สูง ไทยจะแข่งขันได้อย่างไร