โควิด-19 ลากยาว ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม มิ.ย. ต่ำสุดในรอบ 12 เดือน

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ปรับตัวลดลง 3 เดือนต่อเนื่อง ต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน เหตุโควิดระลอกสามระบาดหนักต่อเนื่อง พบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวัน ควบคุมการระบาดยากขึ้น อุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ชี้เงินเยียวยาก็ไม่เท่าได้รับวัคซีน วอนรัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนคุณภาพฉีดครอบคลุม 70% ลดค่าน้ำค่าไฟประชาชน

วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ระดับ 80.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 82.3 ในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยค่าดัชนีปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกสาม ที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต รวมทั้งการแพร่ระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างในหลายพื้นที่ จนภาครัฐต้องยกระดับมาตรการควบคุม COVID-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้

อาทิ มาตรการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเวลา 30 วัน มาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังทำได้อย่างจำกัด และไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ ด้านการส่งออกสถานการณ์การขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้ายานยนต์ ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือ (Freight) ที่ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ยังเป็นปัจจัยที่ผู้ส่งออกมีความกังวล

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกของไทยที่มีทิศทางดีขี้น สะท้อนจากดัชนีคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว และสถานการณ์ COVID-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย ทำให้อุปสงค์ในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาท ที่อ่อนค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เป็นปัจจัยบวกต่อผู้ส่งออกทำให้สินค้าไทยถูกลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ขณะเดียวกันผู้ส่งออกยังมีรายได้ในรูปเงินบาทมากขึ้น

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,364 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 59.6 สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 47.4 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 37.2 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 58.2 และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 43.5 ตามลำดับ

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 90.8 จากระดับ 91.8 ในเดือนพฤษภาคม 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลายซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานในการควบคุม รวมทั้งการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดอาจทำได้ยาก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังชะลอตัวลง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าและรายได้ของผู้ประกอบการลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ต้องเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องจากการขาดเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

ทั้งนี้ สภามีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเร่งด่วน ดังนี้

1.เร่งการจัดหาวัคซีนคุณภาพและเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศในทุกกลุ่มอาชีพก่อน พิจารณาเปิดประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

2.ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างจนกระทบต่อภาคการผลิตการส่งออก

3.ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ COVID-19 ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งกิจการทุกประเภทเพื่อบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

4.ภาครัฐควรจัดหา Soft Loan พิเศษ ช่วยเหลือ SMEs กลุ่ม NPLs โดยอาจกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้ SMEs กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น อาทิ กำหนดดอกเบี้ยพิเศษ หรือจัดทำเกณฑ์พิจารณาสำหรับ NPLs ที่มีโอกาสรอด เป็นต้น

5.ออกมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภคร้อยละ 30 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs

“สถานการณ์โควิด ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น หลายบริษัทก็พยายามหาทางเลือกแต่ก็กลับมาอยู่ภายใต้สถานการณ์เดิม ตอนนี้เราต้องคิดมาตรการช่วยเหลืออีกเเล้ว เพราะตัวเลขจำนวนคนป่วยกับคนหายห่างกันขึ้นเรื่อย ๆ สาธารณสุขจะรับได้แค่ไหนก็ยังมีประเด็นอีก กรณีโรงงานหากพบว่าติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาส่วนใหญ่ก็มีพื้นที่โรงงานนั้น ๆ ช่วยกันกักกันพื้นที่ โรงพยาบาลสนามเพื่อรักษา ซึ่งยังสามารถบรรเทาเตียงที่ล้นจากโรงพยาบาลได้ ซึ่งตัวอย่างที่ผ่านมา จ.สมุทรสาคร เบาบางลงได้เพราะควบคุมได้ แต่เมื่อเป็นชุมชน ก็ค่อนข้างควบคุมยากกว่า”

“ผมมองว่า ณ วันนี้ ตอนนี้ ทุกคนอยากได้วัคซีน โดยมาตรการช่วยเหลือเรื่องเงินแค่ 2,000 บาท ก็สามารถซื้อวัคซีนได้แล้ว เรารู้อยู่แล้วคอขวดเราอยู่ตรงไหน ถ้าเอกชนทำได้ก็ขอให้เราได้ทำ เราต้องรีบช่วยกันแก้ไข ถ้ามีวัคซีนทางเลือกก็ขอให้จัดสรรได้ ขอให้เร็ว แต่ต้องยอมรับว่าทุกวัคซีนสามารถควบคุมได้เพราะวัคซีนทุกวัคซีนเราก็เพิ่งมาใช้ ต้องดูไปอีกสักระยะ เพียงเเต่ขอให้เรามีทั้งวัคซีนหลัก และทางเลือกฉีดให้ทุกคนโดยเร็ว” นายสุพันธุ์กล่าว