การนิคมฯ ระงับกิจการชั่วคราว โรงงานฟลอรอลฯ ไฟไหม้ที่ลาดกระบัง

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

“สุริยะ” เร่ง กนอ. หาสาเหตุเพลิงไหม้โรงงานไฟไหม้ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง พร้อมคุมเข้มมาตรการเฝ้าระวัง หวั่นเกิดเหตุซ้ำ ด้าน กนอ.แจงเหตุไฟไหม้เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ภายใน 3 ชั่วโมง โดยไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต พร้อมสั่งการให้โรงงานระงับการประกอบกิจการชั่วคราว และเตรียมทบทวนมาตรการป้องกันด่วน

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีบริษัท ฟลอรอลแมนูแฟคเจอริ่ง  กรุ๊ป จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โซน 3 ถนนฉลองกรุง แขวงลำปลาทิว  เขตลาดกระบัง กทม. ไฟไหม้วานนี้ (6 ก.ค. 2564)

ว่า บริษัทดังกล่าวได้ประกอบกิจการผลิตแชมพู สบู่ เจลอาบน้ำ โลชั่นทาผิว แอลกอฮอล์ และเจลล้างมือ และเม็ดพลาสติก จึงสั่งการให้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมดูแลผลกระทบคุณภาพชีวิตของชุมชน และผู้ประกอบการโรงงาน โดยจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายวีริศ  อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า  โรงงานดังกล่าวฯ มีพื้นที่กว่า 4 ไร่ หรือ ประมาณ 7,960 ตารางเมตร มีพนักงานประมาณ 130 คน  โดยเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นบริเวณคลังเก็บสินค้า และวัตถุดิบ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ได้ประสานไปยังสถานีดับเพลิง และนักผจญเพลิง ให้เข้าดำเนินการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน

โดยสามารถควบคุมเพลิงได้ภายใน 3 ชั่วโมง (เวลา 20.13 น.) ซึ่งจุดเกิดเหตุเป็นอาคาร  2 ชั้น ด้านข้างมีถังเก็บสารเคมีกลุ่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 70,000 ลิตร โดยอยู่ระหว่างการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเพื่อหาสาเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้

นายวีริศ  อัมระปาล

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนมูลค่าความเสียหายยังไม่สามารถประเมินได้ต้องรอให้มีการตรวจสอบรายละเอียดก่อน

ขณะที่น้ำที่ใช้ในการระงับเหตุเพลิงไหม้ กนอ.ได้ทำการปิดกั้นลำรางระบายน้ำฝนภายในและบริเวณโดยรอบโรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่เกิดจากการดับเพลิงรั่วไหลออกสู่ภายนอกโรงงาน และให้บริษัทเร่งบำบัดให้ได้ตามมาตรฐานที่ กนอ.กำหนดต่อไป

“กนอ.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 สั่งการให้บริษัทหยุดประกอบกิจการและปรับปรุงแก้ไขโรงงาน ซึ่งหลังจากนี้บริษัทต้องยื่นเอกสารแสดงผลการปรับปรุงอาคารโรงงานและตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ของโครงสร้างอาคารและตรวจสอบความปลอดภัยของระบบอุปกรณ์ภายในโรงงาน ที่ต้องผ่านการรับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญและจัดส่งให้ กนอ. พิจารณาตรวจสอบก่อน”

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสามารถควบคุมเพลิงได้ ตนได้เรียกประชุมย่อยผู้เกี่ยวข้องในทันที หลังลงพื้นที่สังเกตการณ์ พร้อมสั่งการให้เร่งทบทวนมาตรการป้องกันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยด่วน ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก ต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และเกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด

เนื่องจากสิ่งที่ดำเนินการอยู่นั้นอาจยังไม่เพียงพอกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องมีการตรวจสอบด้วยว่า ยังสามารถใช้งานได้อย่างปกติ และมีเพียงพอหรือไม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจกับให้ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมอีกด้วย

ทั้งนี้ ในเวลา 14.30 น.วันนี้ (7 ก.ค. 2564) ตนจะลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายพื้นที่ไฟไหม้อีกครั้ง