กกร.หั่น GDP ปี’64 เหลือ 0-1.5% วัคซีนโควิดช้า ตัวแปรฉุดเศรษฐกิจ

กกร.ประเมินจำนวนวัคซีนโควิด-19 ไม่พอ ช้า เข้ายังไม่ถึงแรงงานภาคอุตสาหกรรมฉุด GDP ปี’64 โตแค่ 0-1.5% วัดใจรัฐบาลคุมการระบาดไม่อยู่หวั่นทำเศรษฐกิจติดลบทั้งประเทศ ทั้งนี้ยังไม่ขอประเมินผลกระทบจากการล็อกดาวน์ทั้งประเทศหวั่นสับสนขอรอประกาศจากรัฐเป็นทางการ

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่รุนแรง และยาวนานขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ การจ้างงานและรายได้แรงงาน มาตรการจำกัดการเดินทางและข้อจำกัดในการกักตัว ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศตลอดช่วงไตรมาส 3 และอาจจะกระทบแผนการเปิดประเทศได้ ดังนั้น ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกันในการควบคุมการระบาดให้ได้โดยเร็ว โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับการเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ และดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย

เมื่อเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมาก ที่ประชุม กกร.จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย GDP ปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.0% ถึง 1.5% ลดลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 0.5-2% แต่ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 8-10% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ภายใต้เงื่อนไขสามารถควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานภายใต้ ม.33 ได้ทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1-1.2%

ทั้งนี้ กกร.ยังเสนอให้รัฐมีมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจได้มากขึ้น อย่างการให้ บสย.เพิ่มวงเงินค้ำประกันให้แก่ลูกหนี้ของธนาคาร และจัดกลุ่มลูกหนี้ที่เป็น NPL ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แยกจากลูกหนี้ NPL ทั่วไป เป็นต้น พร้อมทั้งเร่งการจัดสรรวัคซีน โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะช่วยรัฐบาลในการเร่งฉีดและกระจายวัคซีนให้ถึงมือประชาชนให้เร็วที่สุด ซึ่งรัฐควรมีจุดยืนชัดเจนทางเลือกเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อพลิกสถานการณ์สร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในระยะยาว และยังขอให้จัดสรรวัคซีนสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อรักษาความสามารถในการส่งออกสินค้าให้ได้ตามเป้าหมาย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่น สะท้อนการสำรวจโดย ธปท. ในเดือน มิ.ย. ที่พบว่าผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าธุรกิจอาจจะฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งช้ากว่าเดิม 6 เดือน ดังนั้น เศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากนโยบายเพิ่มเติม เพื่อพยุงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ

รัฐควรเร่งแผนการจัดหาวัคซีนและมีจุดยืนชัดเจนทางเลือกเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อพลิกสถานการณ์สร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในระยะยาว เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาด โดยนำบทเรียนจากจัดหาวัคซีนรอบแรกมาปรับแผนเพื่อให้ประเทศไทยได้มีวัคซีนที่พร้อมต่อการรับมือกับเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ และขอให้จัดสรรวัคซีนสำหรับภาคอุตสาหกรรมเพื่อรักษาความสามารถในการส่งออกสินค้าให้ได้ตาม

“ซึ่งแน่นอนว่าจำนวนวัคซีน การเข้าถึง การฉีด ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใด แต่ต้องมีคุณภาพ รัฐต้องเร่งจัดหามาให้ เพราะนี่จะเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมา แต่หากยังไม่สามารถทำได้ คาดว่า GDP ปีนี้อาจจะติดลบ

ส่วนเรื่องการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ยังไม่มีการประกาศชัดเจนจากรัฐ เราจึงยังไม่ขอประเมินผลกระทบเพราะจะสร้างความสับสน แต่เราควรให้โอกาสธุรกิจที่ปฏิบัติตามมาตรการได้ครบ ก็ไม่ควรปิดเขา”