สุริยะ ขีดเส้น 3 วัน ขนย้าย-ทำลายสารสไตรีน 1,000 ตัน หมิงตี้เคมีคอล

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

“สุริยะ” เผยชุมชนรอบโรงงานหมิงตี้เข้าพื้นที่ได้แล้ว ย้ำอากาศ-น้ำ โดยรอบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไร้อันตราย “ปตท.-ดาวเคมิคอล” ช่วยขนย้ายสารสไตรีน 1,000 ตันทำลายให้เสร็จภายใน 2-3 วัน ด้าน “หมิงตี้เคมีคอล” ตั้งโต้ะพร้อมเยียวยาความเสียหายทุกกรณี กรมโรงงานฯ จ่อทบทวนมาตรการกักเก็บสารเคมีห้ามสต๊อกเกิน

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ชุมชนโดยรอบที่ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้ บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก ภายในซอยกิ่งแก้ว 21 ถนนกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 สามารถเข้าพื้นที่ได้แล้ว เบื้องต้นพบว่ามีผู้บาดเจ็บ 30 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งแรงระเบิดทำให้บ้านเรือนเสียหายเป็นวงกว้าง

ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เข้าตรวจสอบคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และสารเคมี ที่ตกค้างในพื้นที่พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชนโดยรอบ แต่เพื่อเป็นการป้องกันความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงบริเวณโดยรอบโรงงาน เนื่องจากยังมีสารเคมีตกค้างในโรงงาน ซึ่งอาจเกิดปฏิกิริยาเคมีและเกิดระเบิดได้

จึงได้ทำการฉีดน้ำเพื่อรักษาอุณหภูมิไว้ไม่ให้เกิดปฏิกิริยาเคมี จากการตรวจสอบด้านมลพิษในช่วง 3 วันที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่บริเวณโดยรอบในระยะ 0-8 KM จำนวน 14 จุด มีค่าสารสไตรีนที่เกิดเผาไหม้ในอุบัติเหตุอยู่ในช่วง 0.42-0.83 ppm (ส่วนในล้านส่วน) ซึ่งไม่เกินมาตรฐานบรรยากาศตามที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กำหนด (20 ppm) โดยค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลันของสารสไตรีนไว้ 3 ระดับ

ได้แก่ ระดับที่ 1 มีค่า 20 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน) ระดับที่ 2 มีค่า 130 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่ร้ายแรง) ระดับที่ 3 มีค่า 1,100 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต)

ส่วนคุณภาพน้ำ มีการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารสไตรีน โดยพบสารสไตรีนในน้ำจากการดับเพลิงที่อยู่ในบริเวณโรงงาน แต่ไม่พบสารสไตรีนปนเปื้อนในคลองปากน้ำและคลองประเวศบุรีรมย์หน้าวัดสังฆราช ซึ่งสถานการณ์สารมลพิษไม่อยู่ในระดับก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่ควรงดใช้น้ำคลองเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงเวลานี้เป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการรื้อถอนปรับปรุงสภาพพื้นที่ สารสไตนรีนโมโนเมอร์ที่เหลืออยู่ 1,000 ตัน และนำกากของเสียที่เกิดจากอุบัติภัยออกไปกำจัดตามหลักวิชาการและความปลอดภัย โดยบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

“ยังมีโรงงานที่เก็บพวกสารเคมี เคมีภัณฑ์แบบนี้อยู่อีก 446 โรงงาน ผมสั่งให้กรมโรงงานฯ จัดทำหนังสือแจ้งให้โรงงานปฏิบัติตามแผนบริหารความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด โดยให้ประสานกับสำนักอุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเร่งด่วน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ในทุกช่องทางของกระทรวง”

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนของการเยียวยาประชาชน กระทรวงได้สั่งให้โรงงานดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงงาน มาตรา 39 (1) เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายที่ประชาชนจะต้องได้รับอย่างเร่งด่วน และร่วมเป็นหน่วยงานกลางในการรับคำร้องเรียนเพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงได้กำหนดมาตรการป้องกันโรงงานที่มีความเสี่ยงใน 2  ระยะ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

โดยระยะสั้นให้  กรอ.จัดทำหนังสือแจ้งให้โรงงานปฏิบัติตามแผนบริหารความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด โดยให้ประสานกับสำนักอุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเร่งด่วน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ในทุกช่องทางของกระทรวง และ กรอ. และระยะยาว ได้กำชับให้ กรอ.และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จัดลำดับโรงงานที่มีความเสี่ยงและตรวจสอบอย่างเป็นระบบ

โดย กรอ.ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่เรียกว่า Safety Application เพื่อใช้สำหรับโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีการใช้สารเคมีอันตราย เพื่อเป็นการป้องกันการรั่วไหลของสารเคมี หรือ วิธีปฏิบัติการดำเนินการต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทางกระทรวงได้มีการหารือเพิ่มเติมว่า การเก็บสารเคมีไว้ในโรงงานต่อจากนี้จะให้กำหนดเก็บไว้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่อการใช้เท่านั้น โดยไม่สามารถเก็บเกินหรือไม่จำเป็นต้องเก็บสต๊อกไว้เท่าที่ขอขยายกำลังการผลิต

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม  กล่าวว่า กรอ.ได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วได้ข้อมูลว่ามีสารสไตรีนโมโนเมอร์ตกค้างอยู่ภายในถังเก็บประมาณ 1,000 ตัน และมีอุณหภูมิเกินกว่า 70 องศาเซลเซียส จึงประสานผู้เชี่ยวชาญให้ขจัดสิ่งกีดขวางรอบ ๆ ถังเก็บ และให้เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำไปที่ถังเก็บสารสไตรีน พร้อมทั้งใส่สารเคมีรอบ ๆ ถังเพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยต้องการลดอุณหภูมิลงให้ได้ต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องอีก 24 ชั่วโมง จนแน่ใจว่าสามารถควบคุมอุณหภูมิได้คงที่ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส

หลังจากนั้นจะพยายามสอดท่อ (pipe) ลงไปทางด้านบนเพื่อใส่สาร DEHA ลงไปเพื่อยับยั้งปฏิกิริยา (วิธีการจัดเก็บสไตรีนโมโนเมอร์ในถังจัดเก็บด้วยวิธีการ Short Stop) ทั้งนี้ หลังจากปรับสภาพได้ตามข้อกำหนดแล้วจะส่งสารสไตรีนไปกำจัด ณ โรงงานบำบัด/กำจัดของเสียอันตรายที่ได้รับอนุญาตจาก กรอ.ต่อไป

“หมิงตี้เมื่อปี 2532 ขอกำลังการผลิตที่ 36,000 ตัน/ปี และขอขยายกำลังการผลิตครั้งล่าสุด คือ พ.ค. 2560 เป็น 40,000 ตัน/ปี แต่ไม่ใช่การขยายพื้นที่โรงงานออกมา เขาลงทุนเครื่องจักรเทคโนโลยีเพิ่มเพื่อให้กำลังการผลิตเขาเพิ่ม ดังนั้นตามคำขอเขาจึงได้รับการอนุญาต แต่ถึงเขาจะไม่ต้องทำ EIA แต่เขาก็ต้องประเมินตนเองทุกปี และต้องทำการประเมินผลกระทบด้านความเสี่ยงด้วยเช่นกัน”