ชิลี สนใจนำเข้า “มังคุด-ลองกอง” พร้อมจะร่วมมือไทยพัฒนาวัคซีน

“จุรินทร์”หารือเอกอัครราชทูตชิลี ขอไทยช่วยหนุนเข้าร่วม FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ พร้อมแจ้งสนใจนำเข้า “มังคุด-ลองกอง” จากไทย อีกทั้งจะร่วมมือกับไทยในการพัฒนาวัคซีนด้วย

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังนายคริสเตียน เรเรน บาร์เกตโต เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะและอำลา ที่กระทรวงพาณิชย์ว่า ท่านทูตชิลีได้ขอให้ไทยช่วยสนับสนุนชิลีที่จะขอเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งได้แจ้งท่านทูตว่าระหว่างวันที่ 21-22 ก.ค.2564 จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย และ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งได้เชิญชิลีเข้าร่วมในการหารือเรื่องนี้แล้ว

ทั้งนี้ ชิลียังได้แจ้งความสนใจที่จะนำเข้าผลไม้ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะมังคุดและลองกอง ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวชิลีมาก และพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในการพัฒนาวัคซีนร่วมกันต่อไป

ส่วนไทย ได้ขอให้ชิลีช่วยสนับสนุนภาคเอกชนของชิลี เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกของไทย 3 กิจกรรมในช่วงปีนี้ ได้แก่ 1.กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) สินค้าอาหาร เครื่องประดับ และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3 ส.ค.2564 ซึ่งมีกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และแอฟริกาตอบรับเข้าร่วมแล้วหลายประเทศ 2.กิจกรรม THAIFEX Anuga Asia 2021 วันที่ 29 ก.ย.-3 ต.ค.2564 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี 3.กิจกรรม TILOG Virtual Exhibition ออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการไทย วันที่ 25-27 ส.ค.2564 ซึ่งชิลีจะได้เข้ามาใช้บริการในการส่งสินค้าไปชิลีหรือไปยังประเทศอื่น

ขณะเดียวกัน ได้ขอให้ชิลี ซึ่งเป็นสมาชิกเอเปก ช่วยสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปกในปี 2565 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย.2564 ซึ่งชิลีพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไทยยังมีโอกาสที่จะขยายการค้ากับชิลีได้อีกมาก โดยสามารถใช้ชิลี เป็นประตูในการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศละตินอเมริกา และเหมาะที่จะเป็นจุดตั้งศูนย์กระจายสินค้าของไทย ไปยังกลุ่มประเทศละติน โดยกระทรวงพาณิชย์พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนที่จะไปลงทุนตั้งศูนย์กระจายสินค้า เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้กับสินค้าไทย

ทั้งนี้ ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ชิลี (Thai-Chile FTA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าส่งออกระหว่างกัน 98% ของรายการสินค้าทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันชิลีเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในละตินอเมริกา รองจาก เม็กซิโก บราซิล และอาร์เจนตินา โดยใน 5 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค. – พ.ค.) การค้าระหว่างไทยและชิลีมีมูลค่า 476.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (14,453.5 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 30.6 เป็นการส่งออกมูลค่า 258.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (7,793.1 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 217.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (6,660.4 ล้านบาท) สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์แปรรูป ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เป็นต้น

ส่วนความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-ชิลี มีจุดเชื่อมโยงกัน 3 จุด ได้แก่ 1.ไทยและชิลี มี FTA ระหว่างกันตั้งแต่เดือนพ.ย.2558 ขณะนี้ได้มีการลดภาษีระหว่างกันเหลือ 0% โดยมีสินค้ามากถึง 98% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ค้าขายระหว่างกัน 2.ไทย-ชิลี เป็นสมาชิกเอเปกด้วยกัน และ 3.เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วยกัน

นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA รวม 13 ฉบับ 18 ประเทศ โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ FTA มีมูลค่าการค้าถึง 3.9 ล้านล้านบาท ขยายตัว 19% เพิ่มขึ้นมากกว่ามูลค่าการค้าไทยกับโลกที่เพิ่มขึ้น 15.9% และสินค้าที่มีศักยภาพของไทยในประเทศคู่ FTA ได้แก่ สินค้าเกษตร อาทิ สินค้ากสิกรรม ประมง และปศุสัตว์ การส่งออกขยายตัวถึง 20% ขณะที่ส่งออกไปทั่วโลกขยายตัวเพียง 14.3% นอกจากนี้ ไทยยังมีสินค้าเกษตรแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ที่ถือว่ามีศักยภาพในการส่งออกไปยังประเทศคู่ FTA อีกด้วย