โควิด-การเมือง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

หอการค้าฯ เผยโควิด-19 ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ระดับ 43.1 ต่ำสุดในรอบ 22 ปี 8 เดือน ผลจากโควิดรอบ 3 ห่วงปัญหาทางการเมือง

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ปรับตัวลดลงมาที่ 43.1 จากระดับ 44.7 ในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 272 เดือน หรือ 22 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 37.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ระดับ 40.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 52.1 โดยเป็นการปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากปัญหาโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะการแพร่ระบาดรอบ 3 ในไทย และยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง การฉีดวัคซีนล่าช้า ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าภาครัฐบาลจะมีมาตรการ โครงการ “เราชนะ” และโครงการต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ ก็ยังไม่ฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ โดยปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบเชิงลบต่อกำลังซื้อ การท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่กระทบต่อความเชื่อมั่น มาตรการเร่งด่วน ในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ 10 จังหวัด ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลและ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ให้มีการหยดุงานก่อสร้างโดยเน้นไปที่โครงการขนาดใหญ่อย่างน้อย 30 วัน รวมถึงกาจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ให้เปิดได้เฉพาะการนำกลับไปเท่านั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี’64 โดยคาดว่าจะขยายตัว 1.8% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3.0% และในปี’65 คาดว่าจะขยายตัว 3.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.7% ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่ปัจจัยบวกที่ส่งผลกระทบ ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วยโครงการ “เราชนะ” “ม.33 เรารักกัน” โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง การฉีดวัคซีนโควิด เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอตัราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ต่อปี การส่งออกของไทยในเดือน พ.ค.64 มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.59% ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามของการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป การแพร่กระจายของโควิดรอบที่ 4 ว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และรัฐบาลจะมีการประกาศ Lockdown หรือไม่และอย่างไร ตลอดจนรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมหรือไม่และมากน้อยเพียงใด จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวใกล้เคียง 0-2% ได้