กระทรวงแรงงานระดมทุกภาคส่วน เดินเครื่องเต็มสูบพัฒนาคนทำงาน ขับเคลื่อน 4.0

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม เผยระดมทุกภาคส่วน สถาบันการศึกษา สมาคม องค์กรด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงกว่า 40 แห่ง ขับเคลื่อนพัฒนากำลังคนตอบรับ 4.0

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานในการประชุมหารือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานหน่วยงานด้านการศึกษา สมาคม องค์กรด้านการส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยี การลงทุนและเศรษฐกิจ รวมกว่า 40 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันวางแผนด้านการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ว่าจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แรงงานขาดทักษะ หรือแรงงานมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้ปัญหาดังที่กล่าวมาได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาฝีมือทั้งคนที่ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงาน และคนทำงานที่อยู่ในสถานประกอบการอยู่แล้ว จึงเชิญผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือและวางแผนการพัฒนากำลังคนร่วมกัน อาทิ สถาบันการศึกษาชั้นนำ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ,พระจอมเกล้าพระนครเหนือ,พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาคมต่างๆ เช่น สมาคมโรงแรมไทย สมาคมสปา สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย สมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลติ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กระทรวงดิจิทัลฯ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย BOI และอีกหลายหน่วยงาน เพื่อนำเสนอข้อมูล และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างแท้จริง และเป็นประโยชน์ต่อทุกองค์กร

นายจรินทร์กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาหน่วยที่ทำหน้าที่ผลิตกำลังแรงานเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน อย่างเช่นสถาบันการศึกษา ก็จะทำหน้าที่ผลิตนักเรียน นักศึกษา และขยายสาขาการเรียนการสอนให้มากขึ้น ซึ่งในบางครั้งอาจมีข้อมูลไม่เพียงพอ ทำให้บัณฑิตบางสาขาตกงาน ในการหารือกันในวันนี้ (13 พฤศจิกายน 2560) ทุกภาคส่วนจะได้มีข้อมูลพร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงร่วมกันวางแผนการพัฒนากำลังคนให้สอดรับกับความต้องการ โดยเฉพาะการพัฒนากำลังรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง S-curve และ New S-curve โดยในปี 2561 กพร.มีเป้าหมายดำเนินการเพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานรองรับไทยแลนด์ 4.0 จำนวน 98,800 คน นอกจากนี้ยังมีในส่วนของโครงการ พัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในพื้นที่ระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อีก 9,200 คน และในส่วนนี้ยังไม่รวมการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ดำเนินการ ซึ่ง กพร.ขอความร่วมมือให้สถานประกอบกิจการดำเนินการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานในด้านที่เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ร้อยละ 50 ของหลักสูตรทั้งหมดที่ดำเนินการฝึกอบรม

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ยกระดับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนำร่อง12 แห่งทั่วประเทศ เป็นสถาบันเทคโนโลยีชั้นสูง ตามจุดเน้นของแต่ละพื้นที่ จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะด้าน อาทิ AHRDA เป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ ด้านยานยนต์/ชิ้นส่วน, จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม MARA (Manufacturing automation and robot academy) ขึ้น พัฒนาทักษะ Multi-skill ให้กับแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการ และในอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร พลาสติก แม่พิมพ์ เป็นต้น โดยดำเนินการพัฒนาแรงงานในด้านเทคโนโลยีชั้นสูงแล้วจำนวน 20,133 คน จากเป้าหมายปี 2560 จำนวน 19,864 คน

มีเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมเป็นศูนย์ทดสอบฯ กว่า 400 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบันดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้วจำนวน 74,469 คน โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Testing System) มาใช้ในการทดสอบภาคทฤษฎี เพื่อสร้างความมั่นใจและมีความโปร่งใสในการปฏิบัติงานด้านดังกล่าว และปรับแก้ไขหลักเกณฑ์ให้นักศึกษาอาชีวะ ระดับ ปวช.ปีสุดท้าย ซึ่งอายุไม่ถึง 18 ปี ให้สามารถเข้าสู่กระบวนการทดสอบมาตรฐานฯ ได้ รวมถึงมีผู้ผ่านการประเมินความรู้ ความสามารถ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคารแล้ว 77,327 คน

การร่วมกันวางแผนการพัฒนากำลังแรงงานในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนากำลังแรงงานทั้งคนที่กำลังจะเข้าสู่การทำงานและคนทำงานที่อยู่ในระบบอยู่แล้วจะได้รับการพัฒนาทักษะให้สูงขึ้นและมีศักยภาพตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และสามารถขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างแน่นอน ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว