เอกชนชมรัฐจัดชุดใหญ่มาตรการเยียวยาล่าสุด ดูแลทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง

เอกชนชมรัฐจัดชุดใหญ่มาตรการเยียวยาล็อกดาวน์โควิดล่าสุด ดูแลทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง คาดยังมีก๊อก 2 ช่วยธุรกิจลดค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย บรรเทาผลกระทบ พร้อมเร่งฟื้นฟู

วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า มาตรการเยียวยาล่าสุดที่ผ่าน ครม.เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) ถือว่าจัดชุดใหญ่ ครอบคลุมกว้างขึ้น มุ่งเน้นกลุ่มที่ถูกสั่งหยุดกิจการ เป็นการช่วยระยะสั้นให้อยู่รอดไปก่อน หลังจากนี้ต้องรอดูช่วงฟื้นฟู

สำหรับอัตราที่ให้ไม่ได้เกินความคาดหมาย และถือว่าดีที่ออกมาสองด้านพร้อมกันทั้งลูกจ้างและนายจ้าง เน้นให้กิจการยังอยู่ต่อ เพราะนายจ้างจำนวนมากไม่มีทุนเหลือแล้ว

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

“สิ่งที่คาดหวังคือการที่หน่วยงานของภาครัฐต่าง ๆ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจ SMEs ได้มากกว่านี้ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำประปา ที่ลดมาบ้างยังมีค่าธรรมเนียมในการประกอบกิจการอีกหลายด้านที่หน่วยงานภาครัฐสามารถช่วยได้ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากคาดว่าจะมีความช่วยเหลือเข้ามาเพิ่มเติม”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ “มาตรการเยียวยาล่าสุด” เพิ่มเติมใน 5 สาขาอาชีพ ที่รับผลกระทบจาก2ประกาศ “เคอร์ฟิว” และ “ล็อกดาวน์” เฉพาะในพื้นที่ 10 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา

สำหรับช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการและมาตรการควบคุมการระบาดเพิ่มจากเดิม 4 สาขาอาชีพ (กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจการกิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ) รวมเป็น 9 สาขาอาชีพ

โดยสาขาที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ 5 สาขา ระยะเวลาการช่วยเหลือ 1 เดือน ได้แก่

  • สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
  • สาขาการขายส่งและการขายปลีก
  • สาขาการซ่อมยานยนต์
  • สาขากิจกรรมการบริหารและสนับสนุนวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมวิชาการ
  • สาขาข้อมูลข่าวสารและการศึกษา

โดยรูปแบบการช่วยเหลือ แบ่งเป็นลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตาม ม.33 ได้รับการช่วยเหลือ 2,500 บาท ต่อคน และลูกจ้างที่ได้รับชดเชยจะได้รับเงินเดือน 50% ของค่าจ้าง รวมไม่เกินคนละ 10,000 บาท

สำหรับผู้ประกอบการจะได้รับรายละ 3,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน จำกัด ไม่เกิน 200 คน
ส่วนผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ได้รับความช่วยเหลือ 5,000 บาท


นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าน้ำค่าไฟ ช่วง ก.ค.-ก.ย. ทั่วประเทศอีก 12,000 ล้านบาท