“ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ไม่แผ่ว กำไรปีนี้ไม่ต่ำกว่ารายละแสนบาท

ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ GI สร้างกำไรเกษตรกรปีละ 185,570 บาท คาดปีนี้ผลผลิตกว่า 4,200 ตัน เตือนเกษตรกร-พ่อค้า ห้ามแอบอ้างชื่อทุเรียน หากฝ่าฝืนจะมีโทษ

วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นางประเทือง วาจรัต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดศรีสะเกษได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการโดยการบูรณาการร่วมกันทุก ๆ ภาคส่วน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ประชาชน มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยประกาศเป็นวาระจังหวัดศรีสะเกษ 10 วาระ ซึ่ง “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” เป็นหนึ่งในวาระการขับเคลื่อนประเด็นเกษตรบูรณาการ โดยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมีชื่อเสียงทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานของสินค้า สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ผู้ค้า ในด้านของคุณภาพและความปลอดภัย

ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากข้อมูลสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ณ เมษายน 2564 มีเนื้อที่ปลูกทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ 8,404 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 3,479 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 4,213 ตัน/ปี โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร (ข้อมูล ณ เมษายน 2564) จำนวน 1,220 ราย มีพื้นที่ปลูกครอบคลุมใน 3 อำเภอ

ได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ ขุนหาญ และศรีรัตนะ ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ภูเขาไฟเป็นดินที่ผุพังมาจากหินบะซอลต์ ดินมีลักษณะเหนียว สีแดง ระบายน้ำดีมาก มีธาตุอาหารชนิดต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อพืชในปริมาณสูง และเกษตรกรใช้น้ำใต้ดินที่มีความลึกมากกว่า 50-100 เมตร ในการให้น้ำผลไม้ จึงส่งผลให้ได้รับแร่ธาตุครบถ้วน ผลผลิตทุเรียน จึงมีรสชาติดี เนื้อทุเรียนแห้งและนุ่มเหนียว เส้นใยละเอียด มีกลิ่นหอมเฉพาะ สำหรับสายพันธุ์ทุเรียนที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุดคือ พันธุ์หมอนทอง เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สศท.11 ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ผลิตทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 18,430 บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 5) เกษตรกรปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,200 กิโลกรัม/ไร่/ปี (ทุเรียน 1 ลูก มีน้ำหนักเฉลี่ย 2-4 กิโลกรัม) เกษตรกรได้ผลตอบแทน 204,000 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 185,570 บาท/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 160-180 บาท/กิโลกรัม (ขายแบบคละทั้งหมด)

สำหรับปีนี้ผลผลิตได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องถึงเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดทั้งหมด กว่า 4,200 ตัน

ด้านตลาดทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 จำหน่ายให้กับล้งในพื้นที่และต่างจังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร และสุรินทร์ รองลงมาร้อยละ 26 จำหน่ายที่สวนให้กับกลุ่มท่องเที่ยวเชิงเกษตรหรือนักท่องเที่ยวทั่วไป และผลผลิตอีกร้อยละ 4 จำหน่ายผ่านทางออนไลน์

ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดศรีษะเกษได้มีนโยบายในการสนับสนุนด้านการเพาะปลูก การตลาด การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตลอดจนมาตรฐานของสินค้าเพื่อให้ผลผลิตของเกษตรกร มีคุณภาพ ตลอดทั้งการปลูกพืชหลากหลาย เช่น เงาะ มังคุด ลองกอง เป็นต้น ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค และส่งเสริมเกษตรกรขายผ่านตลาดออนไลน์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของทุเรียน และอย่าตัดทุเรียนอ่อนหรือด้อยคุณภาพออกจำหน่าย รวมถึงทางจังหวัดได้มีการประกาศห้ามแอบอ้างใช้ชื่อทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ โดยจังหวัดได้แต่งตั้งสารวัตรทุเรียนคอยตรวจอย่างเข้มงวด