อาเซียน-ญี่ปุ่น ปิดดีลเจรจาค้าเสรีบริการและการลงทุน

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและญี่ปุ่น ไขก๊อกประเด็นขวางข้อตกลงการค้าบริการและการลงทุนได้สำเร็จหลังเจรจายืดเยื้อมากว่า 5 ปี ตั้งเป้าหมายลงนามพิธีสารแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ภายในปี 2562

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลการหารือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและญี่ปุ่นอย่างไม่เป็นทางการ ในช่วงการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 31 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ว่าอาเซียนและญี่ปุ่นได้ใช้เวลาในการเจรจาเรื่องการค้าบริการ และการลงทุนมากว่า 5 ปีแล้ว แม้จะสรุปผลในภาพรวมได้ แต่ที่ผ่านมายังติดประเด็นเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทการลงทุน ซึ่งมีความสำคัญกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยอาเซียนและญี่ปุ่น ต่างใช้ความพยายามในการเจรจาด้วยความยืดหยุ่น และเข้าใจถึงสถานการณ์ของประเทศสมาชิกมาโดยตลอด จนทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุผลการเจรจาเรื่องนี้ได้สำเร็จ สำหรับการดำเนินการต่อไป อาเซียนและญี่ปุ่นจะเร่งเดินหน้าขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย ในพิธีสารแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อผนวกข้อบทการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน โดยตั้งเป้าหมายลงนามในเอกสารดังกล่าวภายในปีหน้า

​นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า การสรุปผลเจรจาด้านบริการและลงทุนจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การขยายการค้า การลงทุนในภูมิภาคให้เพิ่มมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และเมื่อมีผลบังคับใช้นักลงทุนจะสามารถเข้าไปให้บริการในสาขาต่างๆ ในญี่ปุ่นได้มากยิ่งขึ้น เช่น การเข้าถึงสาขาบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ บริการโสตทัศน์ บริการก่อสร้าง บริการการเงิน บริการการท่องเที่ยว และช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดการลงทุนของนักลงทุนไทยในญี่ปุ่น ภายใต้กฎเกณฑ์ที่มีความชัดเจน ควบคู่กับการคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน

​ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นการเปิดเสรีเฉพาะการค้าสินค้า ส่งผลให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ในปี 2558 ขยายตัวสูงถึง 239.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.5 ของการค้ารวมของอาเซียน ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากจีน สำหรับการลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นมายังอาเซียน ในปีที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 17.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยญี่ปุ่นยังคงครองตำแหน่งนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสหภาพยุโรป คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 14.5 ของเม็ดเงินลงทุนทางตรงทั้งหมดในอาเซียน

​ญี่ปุ่นยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย (รองจากจีน) โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 70,510.61 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2559 การค้ารวมระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมูลค่า 51,241 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการเติบโตลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 0.11


สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เป็นต้น