ไทยใช้สิทธิ FTA-GSP 5 เดือนทะลุ 31,863.45 ล้าน อาเซียน-สหรัฐ นำโด่ง

export-ส่งออก-pcc

กรมการค้าต่างประเทศเผยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ FTA-GSP 5 เดือน มูลค่าสูงถึง 31,863.45 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียน สหรัฐ ประเทศที่ใช้ประโยชน์มากสุด

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 7,576.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.19 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2564 ที่มีมูลค่า 6,356.95 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 31,863.45 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 75.99 แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 30,272.12 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 1,591.33 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ โดยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 26.49

กีรติ รัชโน

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) เดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 7,189.66 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.41 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2564 ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ 6.021.14 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการใช้สิทธิภายใต้ FTA 5 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 30,272.12 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.24 มีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 76.87 โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก

ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 10,367.07 ล้านเหรียญสหรัฐ) 2) จีน (มูลค่า 10,083.66 ล้านเหรียญสหรัฐ) 3) ออสเตรเลีย (มูลค่า 3,441.92 ล้านเหรียญสหรัฐ) 4) ญี่ปุ่น (มูลค่า 2,784.53 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 1,957.81 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-เปรู (ร้อยละ 95.43) 2) อาเซียน-จีน (ร้อยละ 94.28) 3) ไทย-ชิลี (ร้อยละ 83.25) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 77.90) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 68.33)

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ เดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 387.02 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.25 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2564 ที่มีมูลค่า 335.81 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการใช้สิทธิภายใต้ GSP 5 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการใช้สิทธิ 1,591.33 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.45 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 62.43

ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิ 1,421.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.20 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 64.97 อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ 107.49 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.35 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 39.32 อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 56.33 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 15.23 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 72.36 และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 6.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.65 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 61.24

สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิ สูง อาทิ ถุงมือยาง น้ำ/เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง ซอส เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 พบว่าผู้ประกอบการไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้กรอบ FTA ต่าง ๆ เพื่อส่งออกไปตลาดคู่ค้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด อาทิ เปรู (เพิ่มขึ้นร้อยละ 126.19) ออสเตรเลีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.67) อินเดีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.47) อาเซียน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.77) นิวซีแลนด์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.39) เป็นต้น

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูง ประกอบไปด้วยสินค้าหลากหลาย ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม อาหาร/เครื่องดื่ม และเกษตร อาทิ รถยนต์ขนส่งของน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน (อาเซียน) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำหรือชุบด้วยเงิน (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ (อาเซียน-อินเดีย) ปลาแมคเคอเรล (อาเซียน-ญี่ปุ่น) เครื่องซักผ้า (อาเซียน-เกาหลี) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) ด้ายทำด้วยเส้นใยสังเคราะห์ (ไทย-ชิลี) เป็นต้น