เอกชนห่วงแรงงานหลังแอสตร้าฯ เลื่อน กรอ.พาณิชย์ พร้อมเร่งแก้ไข

กรอ.พาณิชย์ เร่งแก้ไขปัญหาขาดตู้คอนเทนเนอร์ การขาดแรงงาน การเข้าถึงเงินทุนของเอสเอ็มอี เพื่อหวังดันให้การส่งออกโต ด้านเอกชนห่วงแรงงานเข้าไม่ถึงวัคซีน หลังแอสตร้าเซนเนก้าเลื่อนส่งมอบเร่งรัฐแก้ไข

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พณ.) ครั้งที่ 2/2564 ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกเพื่อผลักดันให้การส่งออกเติบโตไปได้ตามเป้าหมายโดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการปรับขึ้นราคาของค่าระวางเรือรวมไปถึงการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวอีกด้วย

ทั้งนี้ หลังการหารือการท่าเรือแห่งประเทศไทยรายงานเบื้องต้นว่าปัญหาเรื่องของตู้คอนเทนเนอร์เริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุลแล้ว โดยมีตู้คอนเทนเนอร์เหลือที่จะส่งออกประมาณ 2 แสนตู้ เพียงแต่ติดปัญหาโดยเฉพาะขบวนการนำสินค้าออกจากตู้ การเคลียร์สินค้าล่าช้าส่งผลให้บางช่วงขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้ โดยในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม 2564) มีการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 2.2 ล้านตู้ และส่งออกประมาณ 2 ล้านตู้ ส่วนปัญหาค่าระวางเรือที่สูงขึ้นผู้ส่งออกรับว่าเป็นไปตามความต้องการของตลาด ดังนั้น ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก

พร้อมกันนี้ต้องการสร้างแรงจูงใจให้เรือขนาดใหญ่เข้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบังให้มากขึ้น รวมไปถึงการเปิดโอกาสเรื่องของการถ่ายลำไปยังประเทศอื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องนำเข้า-ส่งออกสินค้าเฉพาะไทย เพื่อจูงใจให้มีเรือมีตู้คอนเทนเนอร์เข้ามามากขึ้น ซึ่งตนได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ร่วมหารือกับกระทรวงคมนาคมต่อไป ขณะที่ผู้ส่งออกเอสเอ็มอีเพื่อให้เข้าถึงตู้คอนเทนเนอร์และมีอำนาจต่อรองในการใช้บริการหรือค่าระวางเรือ ต้องการให้มีการรวมตัวกัน 30,000 รายเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองกับสายเรือ ซึ่งตนพร้อมที่จะช่วยเหลือเจรจาเต็มที่

นอกจากนี้ในที่ประชุมก็ยังหารือในเรื่องของการเร่งเปิดด่านเพิ่มเติม 11 ด่าน จากปัจจุบันด่านที่เปิดมีประมาณ 46 ด่านจากทั้งหมด 97 ด่าน ขณะที่การเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) สำหรับกรอบอาเซียน-แคนาดา คาดว่าจะเสนอเข้า ครม.ได้ปลายเดือนสิงหาคม 2564 ส่วนกรอบไทย-อียู และกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) คาดว่าจะเสนอเข้า ครม. ได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ และภาคเอกชนยังเสนอให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเงินกู้ซอฟต์โลน (เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ) ในวงเงิน 2,500 ล้านบาท โดยขอให้หน่วยงานที่พิจารณาลดเงื่อนไขขอให้เอกชนที่มีสัญญากู้เต็มแล้วโดยขยายให้กู้เพิ่มเติมได้ และสามารถนำสต๊อกสินค้าใช้เป็นหลักประกัน

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์จัดทำโครงการ จับคู่กู้เงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกซึ่งระยะโครงการทั้งสิ้น 60 วันเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม ถึง 7 กันยายน 2564 เชื่อว่าจะช่วยเหลือให้เอกชนเข้าถึงเงินกู้ให้มากขึ้น ส่วนปัญหาการขาดแรงงานต่างด้าวตนจะนำเข้าเข้าไปรายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

ส่วนกรณี ชุดตรวจโควิด กระทรวงพาณิชย์รอความชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุขมีเห็นความจำเป็นและต้องการดูแล กระทรวงพาณิชย์สามารถเข้าไปดูแลและควบคุมได้ แต่จากติดตามเรื่องนี้ยังรอการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และรอการอนุญาตให้มีการจำหน่ายผ่านร้านขายยาซึ่งมีเภสัชกรรมดูแลอยู่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนดังกล่าว แต่ตนก็รายได้ใน ครม. โดยเสนอให้มีการเร่งนำเข้าเพื่อแก้ไข พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเข้าเพื่อนำมาแจกจ่ายประชาชนในวิกฤตนี้ด้วย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ขาดแคลนรวมไปถึงแรงงานติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานขาดในภาคการผลิตซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างมาก ดังนั้น จึงต้องการให้ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขเรื่องนี้ โดยต้องการให้กลุ่มแรงงานดังกล่าวเข้าถึงการฉีดวัคซีน


อีกทั้งไทยเจอปัญหาการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ไม่สามารถส่งมอบได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งแก้ไขเรื่องนี้โดยเร็ว หากแก้ไขได้เชื่อว่าการส่งออกไทยทั้งปีมีโอกาสส่งออกโต 8-10%