“โคเบลโก้” ชี้ตลาดเหล็กฟื้น อานิสงส์ “รถยนต์-EV”

ชินอิจิ ยาซุกิ
ชินอิจิ ยาซุกิ ประธานกรรมการบริหาร KMS
สัมภาษณ์พิเศษ

“โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล” หรือ KMS เกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) บิ๊กธุรกิจเหล็กไทย และบริษัท โกเบ สตีล จำกัด ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ด้วยมูลค่าลงทุน 6,790 ล้านบาท

ผ่านมา 5 ปีถึงวันนี้ KMS เป็นผู้นำและผู้ผลิตเหล็กลวดเกรดพิเศษป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์รายเดียวในประเทศไทย รวมถึงภูมิภาคอาเซียน ด้วยกำลังการผลิต 480,000 ตัน/ปี “นายชินอิจิ ยาซุกิ” ประธานกรรมการบริหาร KMS ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนกลยุทธ์ปี 2564 และมาตรการอุ้มอุตสาหกรรมเหล็กในไทย

รถยนต์ฟื้นดึงซัพพลายเชนฟื้น

ปัจจุบันโคเบลโก้ฯได้รับการยอมรับจากลูกค้าในไทยทั้งหมดแล้ว จากนี้จะเข้าสู่การขยายตลาดเพื่อครองสัดส่วนการเป็นผู้นำเหล็กเกรดพิเศษ (special steel) สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์แบบนี้ต่อไปให้ได้

สิ่งหนึ่งคือเราต้องสร้างความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือให้กับตนเองให้มากที่สุด โดยตอนนี้โคเบลโก้ฯสามารถผลิตเหล็กเกรดพิเศษได้ในสัดส่วนที่ 50% และเป็นเหล็กเกรดธรรมดา (ordinary steel) 50% เป้าหมายหลัก ยังคงเป็นลูกค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์หรือสแปร์พาร์ตเทียร์ 2 ที่มีสัญญากับค่ายรถญี่ปุ่น แม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะสร้างผลกระทบ แต่อุตสาหกรรมยานยนต์กลับมาฟื้นตัวค่อนข้างเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

“ผลกระทบจากโควิด-19 ต้นปี 2563 แม้ว่าจะทำให้ยอดการผลิตเหล็กและคำสั่งซื้อลดลงหายไป ในท้ายที่สุดเดือนกันยายน 2563 ก็เริ่มเห็นสัญญาณของตลาดรถยนต์เติบโตขึ้นและเร็ว 30% ที่หายไป ปัจจุบันกลับมาแน่นอนว่าส่งผลให้โคเบลโก้ฯ ปี 2564 อุตสาหกรรมเหล็กทั้งหมด รวมถึงโคเบลโก้ฯจะยังคงเติบโตได้ดี”

ซึ่งการที่เราคาดการณ์ว่าปีนี้ทุกอย่างจะกลับมาเป็นบวก เพราะในปี 2563 มีการประเมินไว้ว่ารถยนต์จะผลิตได้ 2,000,000 คัน/ปี แต่แล้วยอดการผลิตจริงก็ลดลงเหลือเพียง 1,500,000 คันเท่านั้น ด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้งโควิด-19 กำลังซื้อ เศรษฐกิจโลก เหล็กเกรดพิเศษของเราจึงน้อยลงตามไปด้วย

ต่อมาปี 2564 มีการจัดทำแผนและประเมินตลาดกันใหม่ช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ตลาดรถยนต์กลับมาผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,600,000 คัน และล่าสุดยังขยับขึ้นไปเป็น 1,720,000 คัน เมื่อสัญญาณบวกเริ่มชัดเจนขึ้น ดังนั้น การผลิตของเราที่ได้หายไปจึงเริ่มกลับมาปีนี้จึงคาดว่าโคเบลโก้ฯจะสามารถผลิตเหล็กได้ 80% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

เพิ่มสัดส่วนเหล็กเกรดพิเศษ

เมื่อรถยนต์โตกลุ่มเหล็กเกรดพิเศษมีโอกาสที่จะโตเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ สัดส่วนที่ 50% ในปัจจุบันจึงมีเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตเหล็กเกรดพิเศษให้เพิ่มขึ้นอีกโดยจะทำให้เร็วที่สุดภายใน 2-3 ปี ด้วยการเจาะฐานลูกค้ากลุ่มเดิมของโกเบ สตีลฯ ซึ่งเขาเป็นผู้ถือหุ้นจากฝั่งญี่ปุ่น เขามีฐานลูกค้าญี่ปุ่นจำนวนมากทำให้เรามีโอกาสที่จะขยายไปยังฐานลูกค้านี้ได้

หลังจากนี้เราจะเริ่มเดินสายพบลูกค้ากลุ่มนี้เพื่อให้รับรู้ว่า โคเบลโก้ฯ คือผู้ผลิตเหล็กเกรดพิเศษ สามารถผลิตได้เองมีโรงงานตั้งอยู่ที่ประเทศไทย และเป็นเพียงรายเดียวที่มีศักยภาพป้อนสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานของญี่ปุ่น ส่วนเรื่องแผนการลงทุนหรือการเตรียมเม็ดเงินลงทุนไว้ในส่วนอื่น ๆ ยังไม่มี เพราะตอนนี้เรามุ่งขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าที่กล่าวมาให้เขารู้จักเราก่อน

ห่วงปิดแคมป์ก่อสร้าง

ขณะที่เหล็กเกรดธรรมดาซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างนั้นยังคงไม่มีผลกระทบอะไร จากมาตรการป้องกันการระบาด ซึ่งรัฐได้สั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเป็นเวลา 1 เดือน ปีนี้การผลิตและยอดขายก็ยังคงคาดว่าจะใกล้เคียงกับเป้ามากที่สุด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปีนี้เราก็คงกังวลเรื่องการระบาดของเชื้อโควิด-19 และการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างถ้าหากยาวกว่านี้

เพิ่มภาษีเหล็กนำเข้า

มีการประเมินไว้ว่าปีนี้ราคาเหล็กจะยังมีราคาสูงทั่วโลก อย่างที่ทราบกันมันมาจากปัจจัยวัตถุดิบที่นำมาใช้จากจีน มันปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนก็ปรับขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเราก็ต่อรองกับลูกค้าเพื่อปรับราคาขายสำหรับเหล็กเกรดธรรมดา ส่วนสถานการณ์เหล็กโดยรวมนั้น เมื่อการนำเข้าเหล็กลวด (wire rod) เริ่มปรับราคาสูงขึ้น ผู้ใช้งานในประเทศเริ่มไม่นำเข้า เป็นโอกาสดีที่ทำให้เหล็กในประเทศได้อานิสงส์

สอดคล้องกับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้พยายามให้เหล่าผู้ผลิตเหล็กในประเทศพัฒนาตนเอง ผลิตเหล็กเกรดที่มีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ลดการนำเข้าและใช้เหล็กในประเทศให้มากขึ้น เช่นเดียวกับโคเบลโก้ฯเองที่ต้องพัฒนาตนเองให้ดี

เพราะเราเองคือผู้ผลิตต้นน้ำไม่ใช่ปลายน้ำ ดังนั้น เราจึงต้องรักษาคุณภาพของสินค้า และคุณภาพการผลิตให้ได้สูงที่สุด และเมื่อใดที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ เคมี ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โคเบลโก้ฯ จะได้อานิสงส์จากการใช้เหล็กเพิ่มขึ้น

หวังรัฐกระตุ้นตลาดเหล็ก

สำหรับการกระตุ้นเหล็กในประเทศ รัฐต้องมีนโยบายหนุนให้เกิดกำลังซื้อรถ เช่น ซื้อรถแล้วได้สิทธิประโยชน์อะไร เมื่อใดที่ยอดขายรถเพิ่มเหล็กเกรดพิเศษก็จะได้อานิสงส์ตามไปด้วย หรือจะเป็นการคุ้มครองเรื่องภาษีของเหล็กเกรดธรรมดา

เพราะที่ผ่านมาไทยเคยเจอปัญหาเหล็กนำเข้ามาดัมพ์กดราคาในประเทศให้ถูกลง ดังนั้นรัฐควรที่จะพิจารณาปรับภาษีนำเข้าเหล็กในอัตราที่สูงขึ้น แต่ไม่ถึงกับต้องห้ามนำเข้า เพราะยังมีบางอุตสาหกรรมที่ยังต้องอาศัยเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศเช่นกัน

หากประเมินภาพรวมเหล็กปีนี้แล้ว กลุ่มเกรดธรรมดายังไม่ตก ขณะที่กลุ่มเกรดพิเศษจะโตตามยอดขายรถที่โตขึ้น และการที่โคเบลโก้ฯมีโรงงานอยู่ที่ไทยทำให้การขนส่งสินค้าได้เร็วขึ้น 30-40 วัน จากที่ต้องนำเข้ามาจากญี่ปุ่นใช้เวลา 60-90 วัน