“หมิงตี้เอฟเฟ็กต์” สอท.จี้รัฐออกมาตรฐานชุดดับเพลิง

ชุดเซฟตี้

ควันหลง “ไฟไหม้หมิงตี้” อีอีซีจ่อปรับเกณฑ์จูงใจดึงโรงงานสารเคมี ด้าน ส.อ.ท.กระทุ้งรัฐแก้ปัญหา เร่งคลอดมาตรฐานชุดผจญเพลิง หลัง สมอ.หารือเอกชนซุ่มยกร่างมาตรฐานเทียบเท่ายุโรปนานนับปี คุณภาพดี-ราคาถูกกว่านำเข้าชุดละหมื่น พร้อมเข้าร่วมโครงการเมดอินไทยแลนด์ คาดอนาคตไทยฐานผลิตส่งออกอาเซียน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในเวทีการสัมมนาผ่านคลับเฮาส์ หัวข้อ “EEC ตอบโจทย์ยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาได้จริงหรือ” เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมี นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เป็นผู้บรรยายหลัก

และมีภาคเอกชนร่วมรับฟังกว่า 100 คน สะท้อนมุมถึงปัญหาเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานผลิตโฟม และเม็ดพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซอยกิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งผ่านมา 10 วันแล้ว นับจากวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้หลายฝ่ายควรมีมาตรการดูแลโรงงานกลุ่มนี้อย่างไร

โดยเฉพาะการกำหนดพื้นที่ตั้งโรงงานสารเคมีเพื่อไม่ให้ใกล้แหล่งชุมชน มีการเสนอให้ย้ายโรงงานไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อื่น เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้หรือไม่ รวมไปถึงการวางมาตรฐานอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ชุดดับเพลิงคุณภาพสูง

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ที่กิ่งแก้วถือเป็น wake up call ของไทยว่าต้องดูแลเรื่องนี้ทางเราเห็นด้วยและกำลังให้ทีมศึกษาว่าจะต้องมีการวางมาตรการอย่างไร เพื่อจะดึงโรงงานประเภทนี้เข้ามาอยู่ในนิคมอีอีซี อาจจะต้องมีการพิจารณาเรื่องการให้มาตรการจูงใจเพื่อดึงให้เขาย้าย

คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบอร์ดเร็ว ๆ นี้ ส่วนปัญหาเรื่องอุปกรณ์ที่เราพบว่าไทยยังไม่พร้อม ทั้งอุปกรณ์ดับเพลิงต่าง ๆ นั้น เรายังมีบริษัทใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่อีอีซีมีประสบการณ์และมีความพร้อมที่จะช่วย แต่สิ่งสำคัญการแก้ไขปัญหาลักษณะอย่างนี้จะต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นไฟไหม้ฟาง

ด้านนายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อเร่งผลักดันการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สินค้าชุดผจญเพลิง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานยุโรป เช่น EN469

ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์
ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

หลังจากที่ได้หารือมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งมาเป็นจังหวะการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงได้เลื่อนออกมาและอยู่ระหว่างการปรับปรุงร่าง มอก.บางส่วน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาเพลิงไหม้โรงงานทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่าควรจะต้องร่วมกันผลักดันให้เร็วขึ้น ทางเอกชนคาดหวังว่าจะมีการเสนอที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานฯ เร็ว ๆ นี้

“ที่ผ่านมาไทยมีการผลิตชุดผจญเพลิงหรือชุดดับเพลิงเพื่อใช้เองในประเทศ โดยมีหลายระดับราคา ตั้งแต่หลักพันไปถึงหลักหมื่น ถ้าเป็นชุดที่ได้มาตรฐานจริง ๆ จะมีราคาประมาณ 25,000-32,000 บาท ต่ำกว่าราคานำเข้าที่ขายชุดละ 30,000-40,000 บาท หากเราผลิตเองได้ราคาถูกกว่านำเข้าชุดละ 5,000-15,000 บาท โดยตลาดสำคัญคือตลาดภาครัฐ”

“ซึ่งที่ผ่านมาเกณฑ์จัดซื้อ ส่วนใหญ่คัดเลือกสินค้าที่มีราคาต่ำก่อน ตอนนี้ภาคเอกชนได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเมดอินไทยแลนด์ เชื่อว่าจากนี้จะทำให้สามารถเข้าร่วมโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้มากขึ้น และยังเป็นโอกาสที่จะขยายการส่งออกไปยังตลาดเพื่อนบ้านอาเซียนในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็ยังมีปัญหาที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนออกมาตรฐาน

1.เรายังไม่มีสถาบันทดสอบผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนด ทำให้ต้องส่งไปทดสอบในต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงหลักแสนบาท

2.ผู้ผลิตผ้าที่ใช้ในการตัดชุดผจญเพลิงในไทยมีเพียง 1-2 ราย โดยเป็นโรงงานญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย

และ 3.ถ้าประกาศเป็นมาตรฐานบังคับ เชื่อว่าจะมีการนำเข้าสินค้าที่มีมาตรฐานเข้ามาขายแข่งขันในประเทศได้

ทั้งนี้ นักผจญเพลิงต้องใช้ชุดระดับ 2 คือ ชุดปฏิบัติงานในภารกิจความเสี่ยงสูง ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1.ป้องกันการถ่ายเทความร้อนจากเปลวไฟได้มากกว่าหรือเท่ากับ 13 วินาที 2.ต้านทานการซึมผ่านของน้ำมากกว่า หรือเท่ากับ 20 Kpa 3.ต้านทานไอน้ำไม่ให้ผ่านเข้าชุดน้อยกว่า 30 m2 pa/w และ 4.ผ่านมาตรฐาน EN 469

สำหรับชุดดับเพลิงตามมาตรฐาน EN469 ประกอบด้วย แจ็กเกตชั้นนอกสุดจะต้องมีน้ำหนักเบา สามารถป้องกันเปลวไฟได้, ชั้นกลาง กันความชื้น เคลือบด้วยสารป้องกันการติดไฟและป้องกันความร้อน ลักษณะของผิวของผ้าต้องช่วยป้องกันน้ำและไอน้ำได้ และความร้อนและชื้นจากร่างกายสามารถระบายออกได้ดี

และชั้นในสุดต้องสวมใส่สบายทุกผิวสัมผัส ป้องกันการติดไฟ และความร้อน ลักษณะของผิวของผ้าต้องช่วยป้องกันน้ำและไอน้ำได้ และความร้อนและชื้นจากร่างกายต้องสามารถระบายออกได้ดี ขณะที่กางเกงดับเพลิงต้องตัดเย็บจากผ้าทอจากเส้นใยอะรามิก 3 ชั้น มีแถบสะท้อนแสงแบบเดียวกับเสื้อดับเพลิงสามารถทนความร้อนได้ดี


และทุกชิ้นส่วนบนชุดต้องทำด้วยวัสดุกันไฟทั้งชิ้น เช่น ผ้ารัดข้อมือ ช่องใส่วิทยุสื่อสาร ต้องเย็บหรือทอด้วยเส้นใยอะรามิกทั้งหมด